ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (8 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 ม.ค.67)ที่ระดับ  34.66 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.72 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูง (แกว่งตัวในกรอบ 34.44-34.95 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าหนัก ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงแรงของราคาทองคำ จากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟดที่ “เร็วและลึก” อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เล่นในตลาดได้พิจารณาข้อมูลการจ้างงานเชิงลึก ก็เริ่มพบว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ กลับไม่ได้แข็งแกร่งตามข้อมูลที่รายงาน และข้อมูลการจ้างงานโดยรวมก็ออกมาผสมผสาน (มีทั้งส่วนที่ดีและแย่) ขณะเดียวกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ล่าสุด ที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงาน ก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก และผู้เล่นในตลาดต่างยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดมีโอกาสราว 64% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งมุมมองดังกล่าวส่งผลให้ เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้น หนุนให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนจาก รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุด

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ - ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เดือนธันวาคม โดยผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ ต่อ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง หรือ ไม่ โดยล่าสุด นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า Core CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.8% จากระดับ 4.0% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด ที่ “เร็วและลึก” ต่อไปได้ ขณะที่ หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับเร่งตัวขึ้น หรือ ออกมาสูงกว่าคาด ก็จะส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งภาพดังกล่าวจะหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อนโยบายการเงินของเฟด อาทิ Michael Barr (Voter), John Williams (Voter) และ Raphael Bostic (Voter) โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าวจะมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดบ้างหรือไม่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด นั้น ออกมาผสมผสาน โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี ISM ภาคการบริการ ที่ชะลอลงอย่างชัดเจนและออกมาแย่กว่าคาดไปมาก 

* ฝั่งยุโรป - บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซน และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE   

* ฝั่งเอเชีย - ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม ซึ่งคาดว่าอาจยังคง “ติดลบ” ราว -0.4% สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งนี้ ยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนก็เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง โดยนักวิเคราะห์ประเมิน ยอดการส่งออก (Exports) เดือนธันวาคม ขยายตัว +1.6%y/y ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี บรรยากาศในตลาดการเงินจีนอาจอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังมีรายงานข่าวว่า  Zhongzhi ธนาคารเงา (Shadow Banking) รายใหญ่ของจีน ได้ยื่นล้มละลายต่อศาล ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันตลาดการเงินจีนและมีโอกาสส่งผลให้เงินหยวนจีน (CNY) ผันผวนอ่อนค่าได้ ในส่วนของนโยบายการเงิน นักวิเคราะห์ประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% หลังอัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.2% ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมก็มีทิศทางชะลอตัวลงบ้าง    

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทำให้เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป คือ 35.00) หากผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำซึ่งอาจปรับตัวลดลงต่อได้ ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินจีนและทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ก็อาจสร้างความผันผวนต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ หากผู้เล่นในตลาดต่างกังวลปัญหาหนี้ในจีนมากขึ้น จากข่าวการยื่นล้มละลายของธนาคารเงารายใหญ่ Zhongzhi

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด จนอาจมองว่า เฟดมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.35-35.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ม.ค. 2567 เวลา : 10:21:34

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:59 am