ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ม.ค.67) ที่ระดับ  34.97 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.04 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.86-35.07 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ของเงินบาท ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้ส่งออกบางส่วน ทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญไปได้ไกล
 
จังหวะการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่ำกว่าระดับ 4.00% ได้ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ Nvidia +6.4%, Amazon +2.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.20% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.41%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.38% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาว ASML +1.4% นอกจากนี้ ข่าวการระงับการบินของเครื่องบิน Boeing 737MAX9 โดย FAA สหรัฐฯ ที่กดดันราคาหุ้น Boeing -8% ก็ได้หนุนให้ หุ้น Airbus ปรับตัวขึ้นกว่า +2.5% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงแรงราว -3% ของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงอีกครั้ง จากความกังวลการปรับลดราคาขายน้ำมันของซาอุฯ และการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะย่อตัวลงหลุดระดับ 4.00% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์โดยเฟดสาขานิวยอร์ก ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม และท่าทีของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เริ่มระมัดระวังต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ นี้ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 4.01% อีกครั้ง อนึ่ง เรายังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงแรก ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างเล็กน้อย หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นบ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 102.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102-102.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
 
สำหรับวันนี้ แม้ว่าจะไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญมากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Michael Barr ในช่วงเวลา 0.00 น. ของเช้าวันพุธ ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด หลังผู้เล่นในตลาด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ต่างได้รับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังวันก่อนหน้าเงินบาทได้อ่อนค่าเร็วและแรงมากกว่าที่เราคาดไว้ จนไปทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบบนที่เราประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ (ทำให้เราขยับกรอบบนของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ขึ้นเป็น 35.30 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นแนวต้านที่อาจผ่านไปได้ยาก เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ส่วนผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีมุมมองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Long THB ได้ 

ทั้งนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนต่อเงินบาทได้ในช่วงตลาดยังขาดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ คือ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า เริ่มมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็ยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ จนกว่าจะเห็นการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน จนกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ม.ค. 2567 เวลา : 11:28:26

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:39 am