ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (12 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 ม.ค.67) ที่ระดับ  34.99 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.07 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.96-35.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงหลุดโซนแนวรับล่าสุด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลาง สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทั้งเงินบาทและราคาทองคำ ยังได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากผลการประมูลบอนด์ 30 ปี ที่ยังสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายงานงบดุลของเฟดล่าสุด ที่ยังคงสะท้อนว่า สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังมีความต้องการสภาพคล่องผ่านโครงการ Bank Term Funding 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัว จากความกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่รีบาวด์ขึ้น ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.07% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.77% ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -0.4%, LVMH -1.6% จากความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงช้า อาจทำให้เฟดไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดคาดหวังไว้ ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นกลุ่มการเงินก็เริ่มเผชิญแรงขาย HSBC -3.1%, UBS -1.7% ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ รายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ตั้งแต่ช่วงวันศุกร์นี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงสู่ระดับ 3.97% หลังผลการประมูลบอนด์ 30 ปี ออกมาสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่ยังสูง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นก็มีส่วนช่วยหนุนความต้องการถือบอนด์เพิ่มเติม ทั้งนี้ ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าคาด และผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้น หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็กลับมาย่อตัวลงในช่วงหลัง ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-102.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลุดโซนแนวรับระยะสั้นที่เราประเมินไว้ ทว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น รวมถึงการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ทดสอบโซน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งจีน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดการค้าระหว่างประเทศ (ยอดการส่งออกและนำเข้า) เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาสัญญาณอัตราเงินเฟ้อ ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอลง และเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่ำกว่าระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ได้บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเงินบาทอาจได้แรงหนุน คล้ายกับช่วงเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทว่า เราประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในรอบนี้ อาจไม่ได้น่ากังวลมากจนทำให้เกิดภาพคล้ายกับช่วงแรกของสงครามอิสราเอล-ฮามาส 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง 

ท่ามกลางปัจจัยฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่าดังกล่าว ทำให้เรามองว่า เงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideway ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากนัก และเรายังคงประเมินโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญในช่วงนี้ ขณะที่ การแข็งค่าต่อเนื่องก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ทำให้โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวรับสำคัญของเงินบาทในช่วงนี้ 

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 12 ม.ค. 2567 เวลา : 10:34:40

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:44 am