ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (17 ม.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.39 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.29-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ยังคงย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทในช่วงนี้เช่นกัน ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ชัดเจน หรือไม่ เพราะการปรับตัวอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัวลง อาทิ Meta -1.9%, Amazon -0.9% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินที่ออกมาผสมผสานก็มีส่วนกดดันให้หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Morgan Stanley -4.2%, BofA -2.1% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.37%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.24% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรป เช่นกัน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงดังกล่าว ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Defensive อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare Novo Nordisk +0.8% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดหวัง ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคมลง เหลือ 63% จากที่เคยประเมินไว้เกือบ 81% ในวันก่อนหน้า ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.05% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ เรายังเห็นความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าคาด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดเผชิญความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทว่า การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับแถว 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales)  รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) 

ส่วนทางฝั่งยุโรป รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของผู้เล่นในตลาด ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง ECB และ BOE ได้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าแรงกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร ทำให้เราต้องปรับมุมมองใหม่ว่า ในช่วงนี้ เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยคลายกังวลต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันเงินบาท คือ ทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างไร

โดยหากผู้เล่นในตลาดเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก (อาจเห็นโอกาสการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ลดลงต่ำกว่า 50%) ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ กดดันเงินบาทและราคาทองคำ โดยเงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทะลุระดับแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวชัดเจน ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทั้งนี้ ในส่วนการประเมิน Valuation ของเงินบาท เราพบว่า แถวโซน 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทถือว่าอยู่ในระดับที่ Undervalued พอสมควร (Z-score ของ REER ต่ำกว่า -0.75) ทำให้โซนดังกล่าวอาจเป็นจุดกลับตัวในระยะสั้นของเงินบาทได้ 

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ม.ค. 2567 เวลา : 10:32:24

08-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 8, 2024, 10:18 am