ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (23 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.67 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.68 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้บรรดาดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ผันผวนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ในช่วงก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้ ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาด (รวมถึงเรา) ต่างคาดว่า BOJ จะยังไม่มีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ และจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก 

บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาจออกมาสดใสหรือเติบโตได้ตามคาด หลังจากในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินที่ออกมาผสมผสาน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.22% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4,850.43 จุด

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.77% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ ASML +3.1% ที่ปรับตัวขึ้นได้ หลังนักวิเคราะห์ในตลาดปรับคำแนะนำการลงทุนและเป้าราคาใหม่ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดหุ้นยุโรปในระยะสั้นได้ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 57% ในการ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ณ การประชุมเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี แกว่งตัวใกล้ระดับ 4.10% ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่แข็งแกร่งกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก ตามที่เคยประเมินไว้ และการปรับมุมมองดังกล่าวจะหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideways ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงเช้าวันอังคารนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.1-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ โดยรวม ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า มุมมองของ BOJ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือ BOJ มีการส่งสัญญาณต่อโอกาสในการปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ เพราะหาก BOJ ยังไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ BOJ ก็อาจกดดันให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ ทดสอบโซน 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

และนอกเหนือจากผลการประชุม BOJ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ตามที่เราประเมินไว้ ในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติมได้ หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) เริ่มมีแนวโน้มย่อตัวลงเข้าใกล้แนวรับ 23.80 บาทต่อ 100 เยน นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุด ผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างออกมาน่าผิดหวัง ทำให้เรากังวลว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทยจนกว่าจะเห็นแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมที่ดีขึ้นชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ แต่เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดในโซนแนวต้าน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับมุมมองเราในต้นสัปดาห์ที่ประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากตลาดต่างเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก และเริ่มกลับไปเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด หรือ ไม่ต่างจาก Dot Plot มากนัก 

ส่วนโซนแนวรับเงินบาทในช่วงที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น จะยังคงเป็นโซน 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้ 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ม.ค. 2567 เวลา : 10:28:12

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:54 am