ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (24 ม.ค.67) ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ม.ค.67)ที่ระดับ  35.69 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.66-35.76 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ตามที่เคยได้ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวขึ้น หนุนให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง 

แม้ว่ารายงานผลประกอบการของหลายบริษัท อาทิ 3M -11% และ Lockheed Martin -4.2% จะออกมาแย่กว่าคาดและกดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงแรกของการซื้อ-ขาย ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อมั่นในแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) ยังคงช่วยหนุนให้ หุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าว ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Apple +0.7%, Microsoft +0.6% และช่วยให้ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกทั้งยังส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.29% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.28% ท่ามกลางความกังวลว่า ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจออกมาไม่สดใส ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี หุ้นในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +1.1% ยานยนต์ Volkswagen +6.9% และเหมืองแร่ Rio Tinto +2.3% ต่างปรับตัวขึ้น ตอบรับความหวังว่า ทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้โดยรวมตลาดหุ้นยุโรปไม่ได้ปรับตัวลงแรง

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ยังคงช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทยอยปรับตัวขึ้น เหนือระดับ 4.10% ทั้งนี้ โดยรวมผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยครั้งละ -25bps ในทุกการประชุม จนถึงระดับ 3.75%-4.00% ในการประชุมเดือนธันวาคม (คิดเป็นการลดดอกเบี้ยราว -150bps หรือ 6 ครั้ง) ซึ่งหากผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้พอสมควร โดยหากผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก ตามที่เคยประเมินไว้ ก็อาจหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.3-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในโซน 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุม ECB รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น ดัชนี PMI และ อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ก่อนปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน
 
สำหรับวันนี้ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ, ยูโรโซน, อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า รายงานดัชนี PMI จะสะท้อนถึง แนวโน้มการชะลอตัวลงของบรรดาเศรษฐกิจหลักอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ เพราะหากรายงานดัชนี PMI ออกมาดีกว่าคาด และยังคงสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด ซึ่งจะหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ ASML, SAP และ Tesla ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังตลาดทุนไทยเผชิญแรงเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้ขยายตัวได้ตามที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ หากคาดการณ์ของทางกระทรวงการคลังนั้นถูกต้อง (ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง +1.8% ในปี 2023) นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ ก็ยังไม่ได้สดใสมากนัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตารายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ และยูโรโซนกับอังกฤษ เพราะหาก ดัชนี PMI ฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด และดูสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจจะยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาด ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าเฟด ซึ่งภาพดังกล่าว จะยิ่งกดดันให้ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นไม่ยาก 

ทั้งนี้ เราจะจับตาใกล้ชิดว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้หรือไม่ เพราะการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งโซนดังกล่าว ก็อาจเป็นจุดที่ต้องจับตาว่า จะมีปัจจัยเข้ามาหนุนให้เงินบาทชะลอการอ่อนค่า หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าได้หรือไม่ เพราะในเชิง Valuation เงินบาทแถว 36 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ Undervalued พอสมควรจากการประเมินโดยใช้ดัชนีค่าเงินบาท REER 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2567 เวลา : 10:35:27

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:06 pm