ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (26 ม.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.65-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หลังรายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ครั้งแรกนั้น ออกมาดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก (+3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดประเมินให้สูงสุด +2.5%) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มความคาดหวังว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว 5-6 ครั้ง ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังราคาทองคำยังคงสามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ได้สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงแบบ Soft Landing ส่วนเฟดก็มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้จริง ตามแนวโน้มการชะลอตัวต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันอยู่บ้าง จากการปรับตัวลงแรงของหุ้น Tesla -12% หลังรายงานผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.53%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.30% ตอบรับความคาดหวังต่อแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมาสดใส โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ อย่าง ASML +4.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ECB อาจทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงราว 5-6 ครั้งในปีนี้ได้ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า รายงานข้อมูลอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 จะออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับประเมินว่า รายละเอียดของรายงานดังกล่าวได้สะท้อนถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.11% ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของ ECB จนส่งผลให้บอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรปปรับตัวลดลง ก็มีส่วนช่วยกดดันบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้งนี้ เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งออกมาดีกว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่ ECB จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงราว 5-6 ครั้งได้ในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.1-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น และกดดันราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวโซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนนี้ เพื่อรอปรับสถานะถือครองทองคำที่ชัดเจนต่อไป 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจมีลักษณะแกว่งตัว sideways ในโซน 35.65-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวผันผวนที่มากขึ้นได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool 
ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมราว 49% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังสามารถทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟดได้พอสมควร หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวสูงขึ้น สวนทางกับที่ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงกว่าคาด และต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% (หากประเมินจากอัตราเงินเฟ้อราย 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้ไม่ยาก 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน ก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา (เช่น ตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วและลึก) หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทในระยะสั้นจะยังเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.85 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ 

และประเมินกรอบเงินบาท 35.55-35.95 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ม.ค. 2567 เวลา : 10:50:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:08 am