ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 ก.พ.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.84 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ก.พ.67) ที่ระดับ  35.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.81 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.78-35.94 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง จากท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น หลังทางการอิสราเอลได้ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของกลุ่มฮามาส ได้ส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง และช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ยังคงสดใส อาทิ Walt Disney +11.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ นำโดย Exxon Mobil +1.7% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากนัก ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Apple -0.7%, Nvidia -0.7% ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.06%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.07% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาผสมผสาน โดยในฝั่งกลุ่ม Healthcare ราคาหุ้น AstraZeneca ดิ่งลง -6.4% จากรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด ขณะที่ หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแบรนด์เนม อย่าง Unilever +3.2% และ Kering +4.9% ตามรายงานผลประกอบการที่ออกมาสดใส

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี สหรัฐฯ ล่าสุดยังคงสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่ดีอยู่ ได้ช่วยให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.15% ในช่วงระยะสั้นนี้ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม การปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยต้องระวังในกรณีที่ การปรับปรุงดังกล่าว สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงช้ากว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ยของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น พร้อมกับการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ จะช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 
 
สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ การปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ แนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมานั้น สูงกว่า หรือ ต่ำกว่า ข้อมูลหลังการปรับปรุงได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับสมมติฐานต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ หลังการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าว กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ช้าจากเดิม ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย (หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดได้จริง)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้แถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (ที่ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น หลังผู้ว่าฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดคาดได้) รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ 

ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หากสามารถช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำได้บ้าง ก็จะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทในระยะนี้ แต่ต้องจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบเช่นกัน เพราะหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานได้ 

อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า ในเชิงเทคนิคัล จะทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่เดือนตุลาคมนั้นเสียไป เปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อสู่โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน Valuation ของเงินบาท เรามองว่า ในโซน 36.50-37 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ค่าเงินบาทถือว่า Undervalued เป็นอย่างมาก (หรือถูกมาก) ทำให้เรารอจังหวะที่จะ Sell on Rally USDTHB หรือเตรียมหาจังหวะเปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า) โดยเราประเมินว่า หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ก็อาจติดโซนแนวรับแถว 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ 

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.05 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.พ. 2567 เวลา : 10:46:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:13 am