นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ก.พ.67)ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องตามที่เราได้ประเมินไว้ว่า เงินบาทเสี่ยงจะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ หากอ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.66-36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.20% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งช้ากว่าที่ตลาดเคยมองไว้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำสู่โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานหนัก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาสูงกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -1.80% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาด -1.37% ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวลงแรงกว่า -0.95% เช่นกัน แม้ว่าโดยรวมรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป (ทั้งของอังกฤษและยูโรโซน) จะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด จะทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ฝั่งยุโรปก็ปรับตัวลงแรงเช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงทะลุโซน 4.30% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสและการชะลอตัวลงช้ากว่าคาดของอัตราเงินเฟ้อ อาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดได้จริง (ลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง และอาจเริ่มลดในการประชุมเดือนมิถุนายน) ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของเราก่อนหน้าที่มองว่า ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและดีกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้ากว่าคาด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเสี่ยงจะปรับตัวขึ้นต่อ อนึ่ง การปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.30% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return โดยระดับบอนด์ยีลด์ล่าสุดถือว่ามีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพุ่งขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ดิ่งลงสู่โซนแนวรับสำคัญแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองเชิงเทคนิคัลที่เราได้ประเมินก่อนหน้าว่า ราคาทองคำเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อ เร็วและแรง เหมือนในช่วงปลายเดือนกันยายน สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, BOE และ ECB เพื่อช่วยในการประเมินทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้าไปได้ ทำให้ในระยะสั้น เรามีมุมมองว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อได้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมาเชื่อว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดยังเกิดในเดือนพฤษภาคมได้ หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของไทยออกมาดีกว่าคาด ลดโอกาสการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเข้าใกล้โซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากโมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงไม่อ่อนแรงลง เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เรามองว่า ระดับการอ่อนค่าดังกล่าว ถือว่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงจนถูกมาก (Undervalued) ในเชิง valuation และเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอย Sell on Rally USDTHB หรือเริ่มสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้) อนึ่ง ราคาทองคำได้ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับหลัก ทำให้หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นบ้างอย่างน้อย 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ ในระยะสั้นเงินบาทยังผันผวนไปตามสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น และเงินหยวนจีน ซึ่งทั้งสองสกุลเงินต่างเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าพอสมควรในช่วงนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.15 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น