ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (27 ก.พ.67) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 38,972.41 จุด ลดลง 96.82 จุด หรือ -0.25%,ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 5,078.18 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ +0.17% และดัชนี NASDAQ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 16,035.30 จุด เพิ่มขึ้น 59.05 จุด หรือ +0.37%
นักลงทุนให้ความสนใจไปที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งหากข้อมูล PCE บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อ ก็อาจจะทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงในปัจจุบันต่อไปนานกว่าที่ตลาดคาดไว้
นายเจฟฟรีย์ ชมิด ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตีแสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์ว่า เขายังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ระดับสูงและไม่เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
โดยเครื่องมือ FedWatch tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า มีโอกาส 59.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.ปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนจะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้แนวโน้มการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาทิ ข้อมูลจีดีพี, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และกิจกรรมการผลิต
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันอังคารนั้น ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันอังคารระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 110.9 ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 6.1% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 4.5% หลังจากปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 0.8% ในเดือนม.ค.
ข่าวเด่น