นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 ก.พ.67) ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.06 บาทต่อดอลลาร์) ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ครั้งที่ 2 ออกมา +3.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบกับเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าประมาณการครั้งแรกและคาดการณ์ของตลาดที่ +3.3% นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ คืนวันพฤหัสฯ นี้ และดัชนี ISM ภาคการผลิต ในคืนวันศุกร์ ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด อนึ่ง การย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ระยะสั้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนี ISM ภาคการผลิต ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ออกมาก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว อาทิ Alphabet -1.8%, Nvidia -1.3% กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.55% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.17%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.35% ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่น SAP -1.5%, ASML -1.1% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เริ่มเผชิญแรงกดดันจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ออกมาแย่กว่าคาด สวนทางกับช่วงก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่รายงานผลกำไรจะออกมาดีกว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.30% ไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.26% ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด แต่การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังมุมมองของผู้เล่นในตลาดนั้นเหมือนกับสิ่งที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาย่อตัวลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์จะยังไม่อ่อนค่าลงชัดเจน และมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นราว +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแกว่งตัวเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้เฟดยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งได้ ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) จะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ไปบ้างในวันก่อนหน้า ซึ่งเรามองว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง GDP ในไตรมาสที่ 4 ขณะเดียวกัน เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงพอสมควรในช่วงนี้ แต่โดยรวมเรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down เนื่องจากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ลดลงไปบ้าง แต่ทว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot หรือ จังหวะการลดดอกเบี้ย (Timing) อาจมีการเลื่อนออกไปอีกจากการประชุมเดือนมิถุนายน แต่โดยรวมเฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ โดยในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยิ่งกดดันให้ผู้เล่นในตลาดขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ กดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลงแรง ส่งผลให้โดยรวมเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากนัก ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง โดยในกรณีนี้ อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง ทดสอบโซนแนวรับ 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์
เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 35.75-36.20 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ข่าวเด่น