ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (7 มี.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.62 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 มี.ค.67)ที่ระดับ  35.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.69 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.74 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ยอดการจ้างงานเอกชน โดย ADP เพิ่มขึ้น +1.4 แสนตำแหน่ง แย่กว่าคาด ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ Job Openings ชะลอลงสู่ระดับ 8.86 ล้านตำแหน่ง ดีกว่าคาดเล็กน้อย) นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ย้ำว่า เฟดมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ทว่าเฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติมและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทบ้าง

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตามคาด และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจชะลอลงแบบ Soft Landing ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นธีม AI/Semiconductor รีบาวด์ขึ้น นำโดย Nvidia +3.2% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในคืนวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.51% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.39% ตามการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth โดยเฉพาะหุ้นธีม AI เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.4% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ยังทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ อนึ่งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบปรับสถานะการลงทุนมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในคืนนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.10% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานต่อเนื่อง และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ แม้ว่าจังหวะการลดดอกเบี้ยอาจยังไม่มีความแน่นอน ขึ้นกับพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แม้เราจะยังคงมองว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่น ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในระยะสั้น ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป กลับออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ และช่วยหนุนสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง EUR และ GBP) และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำว่า เฟดสามารถลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ แม้จังหวะการลดยังมีความไม่แน่นอน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อลงใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อ เหนือระดับ 2,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ถึงเป้าของราคาทองคำในปีนี้ของเราเป็นที่เรียบร้อย) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุม ECB ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เราประเมินว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ 4.00% ทว่า เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB จะสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างไร รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB จะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ที่อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าและลึกกว่าเฟดหรือไม่ เนื่องจากมุมมองดังกล่าวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน จะส่งผลกระทบต่อเงินยูโร (EUR) ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจต้องระมัดระวังในการวิเคราะห์พอสมควร จากผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลช่วงเทศกาลตรุษจีน 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายท่าน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์ และผลการประชุม ECB ในคืนวันนี้ ทำให้เราประเมินว่า ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม ECB เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ 35.55-35.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงเช้านี้ จากรายงานอัตราการเติบโตของรายได้ (Average Cash Earnings) ที่ออกมาดีกว่าคาดและสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคาดหวังการทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าใกล้ระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงนี้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ หากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาทองคำเริ่มเข้าสู่โซน Overbought ทำให้มีความเสี่ยงที่ ราคาทองคำอาจเผชิญการปรับฐานได้พอสมควร หากมีปัจจัยลบเข้ามากดดัน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างได้เช่นกัน ทำให้เรามองว่า ควรระวังในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB ที่เราคาดว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นในช่วง 35.50-35.85 บาทต่อดอลลาร์ 

เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มี.ค. 2567 เวลา : 10:46:03

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:00 am