ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (15 มี.ค.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 มี.ค.67) ที่ระดับ  35.82 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.62 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.60-35.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจยิ่งไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนจากการทยอยปรับลดโอกาสเฟดปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน เหลือ 63% (จากเกือบ 75% ในสัปดาห์ก่อนหน้า) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลงแรง สู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้บ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับตัวลง ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นแรง จากการที่ IEA ปรับคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่สูงขึ้น พร้อมปรับลดอุปทานน้ำมันจากคาดการณ์ก่อนหน้า ทำให้มีผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็ทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบเพิ่มเติม ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำและน้ำมันดิบก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่า 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia -3.2% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่าเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยลงได้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้ง ดัชนี PPI และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil +1.8% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.18% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto -1.3%  ตามการปรับตัวลดลงของราคาแร่โลหะที่ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่วนหุ้นเทคฯ ธีม AI บางส่วนก็ปรับตัวลงแรง เช่น Infineon Tech. -2.7% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ บรรดาหุ้นสินค้าแบรนด์เนม เช่น Hermes +1.5% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการชะลอตัวลงช้าของอัตราเงินเฟ้อ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ (โอกาสในการลดดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน ถูกปรับลดลงมากขึ้น) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมากกว่า +10bps เข้าใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง สอดคล้องกับคำเตือนของเราก่อนหน้าที่ให้ระมัดระวัง ความเสี่ยงบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด ทั้งนี้ ระดับของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ล่าสุด ถือว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น (เหนือระดับ 4.20%) ทำให้เรามองว่า Risk-Reward มีความน่าสนใจ อีกทั้ง ระดับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 4.30% ก็ได้สะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ไปแล้ว ดังนั้น นักลงทุนก็สามารถทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงหนัก และยิ่งช่วยให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นอกเหนือจากแรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจเกิดขึ้นช้ากว่าคาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับ 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานครั้งแรกของผลการเจรจาต่อรองค่าจ้าง (Shunto) ของญี่ปุ่น ว่าจะเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังว่า ค่าจ้างจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นพอสมควร จนทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมนี้ (สัปดาห์หน้า) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้พลิกกลับมาแข็งค่า เร็วและแรงพอสมควร ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง ตามโมเมนตัมการอ่อนค่าที่เพิ่มกำลังมากขึ้น สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งยังคงสดใสและดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน สัญญาณเชิงเทคนิคัลก็เริ่มสะท้อนโอกาสที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ (กราฟเงินบาทอาจเกิด Doji Morning Star pattern ไม่น่ามานี้ ส่วน RSI, MACD ก็เริ่มมีแนวโน้ม Bullish มากขึ้นสำหรับ USDTHB ใน Time Frame Daily) ซึ่งหากเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำและน้ำมันดิบ รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญและเป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง จากโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก ที่ต่างรอจังหวะให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง 

อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น ก็อาจยังคงจำกัด เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.70 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับสำคัญถัดไป 35.50 บาทต่อดอลลาร์) 

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในวันนี้ ที่อาจผันผวนไปตามผลการเจรจาต่อรองค่าจ้าง Shunto และการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOJ ส่วนในช่วงกลางคืนราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็ควรระวังความผันผวนของตลาดในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ

เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.95 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 มี.ค. 2567 เวลา : 10:54:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:22 am