ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 มี.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.35 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 มี.ค.67) ที่ระดับ  36.35 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.40 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ที่มาพร้อมจังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะรีบาวด์ขึ้นบ้างและแกว่งตัวในกรอบ sideways เช่นกัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่จะประกาศในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมาบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Meta -1.3%, Apple -0.7%, Alphabet -0.5% หลังทั้ง 3 บริษัทเสี่ยงถูกดำเนินการสอบสวนในประเด็นละเมิดกฎหมายควบคุมตลาดดิจิตอลโดยสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งหากมีความผิดจริงก็อาจกระทบต่อผลกำไรของบริษัทได้ ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil +1% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.31% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +0.7% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการทยอยปรับเป้าดัชนี STOXX600 สูงขึ้นของบรรดานักวิเคราะห์ในตลาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปออกมาบ้าง ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปไกลมากนัก 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.25% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอยู่บ้าง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ปลายสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลอุปทานน้ำมันในระยะสั้นอาจลดลงตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ร้อนแรงขึ้นและการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย ก็มีส่วนหนุนการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อนึ่ง เรายังคงชอบบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์สูงกว่าระดับ 4.20% ซึ่งเปิดโอกาสในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ ด้วย Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็พอช่วยพยุงเงินดอลลาร์ไว้ได้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทว่า จังหวะปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงท้ายตลาดก็ยังคงกดดันราคาทองคำ ทำให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,170 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 
 
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders), ดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ, ดัชนีกิจกรรมในภาคการผลิตและภาคการบริการจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board 

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทิศทางของดุลบัญชีเดินสะพัด โดยรายงานข้อมูลดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ในระยะสั้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นยังคงมีอยู่ และเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงปลายเดือนทำให้ เรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ อีกทั้งการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบต่อเนื่องในช่วงนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาท ผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมัน นอกจากนี้ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจยังเป็นไปอย่างจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจไม่สามารถอ่อนค่าหนักได้ หลังทางการญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยน ทำให้เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นไปได้มากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ก็จะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น จากความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้ เช่นเดียวกัน ควรจับตารายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย เพราะหากไทยขาดดุลการค้ามากขึ้นและแย่กว่าคาด ก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ 

อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.45 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2567 เวลา : 10:43:47

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:18 am