นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 มี.ค.67) ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.24-36.37 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีการเคลื่อนไหวผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังในช่วงแรกราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทดสอบโซนแนวต้าน ก่อนที่จะเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องและจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กดดันให้ย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับก่อนหน้าอีกครั้ง (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำกว่า 75%ในช่วงนี้) อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ออกมาผสมผสาน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board ออกมาแย่กว่าคาด ส่วนดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตและภาคการบริการในพื้นที่ของเฟดสาขาต่างๆ ส่วนใหญ่ก็สะท้อนการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้น ขณะที่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ นั้นปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดยหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia -2.6% อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare ยังพอปรับตัวขึ้นบ้างและช่วยลดทอนแรงกดดันจากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.28%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.24% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน หลังนักวิเคราะห์เริ่มทยอยปรับคำแนะนำเป็นซื้อในหุ้นกลุ่มนี้ อาทิ BNP +2.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง หลังดัชนี STOXX600 ได้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบก็มีส่วนกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อาทิ BP -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนใกล้ระดับ 4.24% โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ก็ออกมาผสมผสาน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ปลายสัปดาห์นี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้ เราคงมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยในส่วนของบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ เรามองว่า จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สูงกว่าระดับ 4.20% จะเปิดโอกาสในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ ด้วย Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ช่วงวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.0-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ รวมถึงจังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อ ทะลุแนวต้านไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,170-2,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนทั้งแข็งค่าและอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทว่า บทเรียนความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) ที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า ควรจับตา ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) เพราะแม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะมองว่า Riksbank อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% แต่หากมีการลดดอกเบี้ย เซอร์ไพรส์ ตลาด หรือ มีการส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมลดดอกเบี้ยลง ก็อาจกดดันให้เงินโครนสวีเดน (SEK) ผันผวนอ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ (SEK มีน้ำหนักราว 4% ในการคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ DXY)
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในช่วงนี้ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงวันศุกร์ ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่ในช่วงสองวันที่ผ่านมา กราฟเงินบาทรายวัน ได้เกิดแท่งเทียนลักษณะ Spinning Top ถึงสองแท่ง สะท้อนถึงความไม่แน่ใจของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าไปได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ทองคำ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ทว่า การอ่อนค่าก็อาจจำกัดและไม่น่าจะอ่อนค่าเกินแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ง่าย ขณะที่ โซนแนวรับของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจยังอยู่ในช่วง 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยหากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดิน (Riksbank) ในช่วงราว 15.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหาก Riksbank ลดดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาด หรือส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน ก็อาจกดดันให้เงินโครนสวีเดน (SEK) และบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรปผันผวนอ่อนค่าลง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวิตฯ (SNB)
อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.50 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น