ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (29 มี.ค.67) ทรงตัว ที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 มี.ค.67) ที่ระดับ  36.48 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.41-36.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด) หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ โดยเฉพาะหากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ออกมาสูงกว่าคาด ย้ำความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะ Buy on Dip ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อยาก ยกเว้นจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยหนุนการแข็งค่า

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ ออกมาบ้าง อาทิ Meta -1.7% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil +1.1% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.11%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.18% แม้ว่าจะถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ SAP -0.9% เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน TotalEnergies +0.7% นอกจากนี้ แนวโน้มการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางในยุโรป ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรปในช่วงนี้เช่นกัน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways แถวระดับ 4.21% โดยผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เราย้ำมุมมองเดิมว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดบอนด์ ในช่วงวันหยุด Good Friday ของตลาดการเงินยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นวันที่ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาสูงกว่าคาด แต่เนื่องจาก เรายังคงมองว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ทำให้เราคงแนะนำนักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในทุกจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% จาก Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในคืนวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.3-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับสถานะเพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ได้ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไร และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ (รายงานจะประกาศในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจากจะเป็นข้อมูลสำคัญที่เฟดใช้ประกอบการพิจารณานโยบายการเงิน โดยหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เร่งตัวสูงขึ้น (ออกมาสูงกว่าคาด) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการ ที่ไม่รวมค่าบ้านต่างๆ (Core Services ex. Housing) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย และอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ซึ่งในจังหวะการรายงานข้อมูลดังกล่าวนั้น จะอยู่ในช่วงปิดทำการของตลาดการเงินสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ปริมาณธุรกรรมอาจเบาบางและส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงได้ โดยความผันผวนสูงดังกล่าวอาจดำเนินต่อเนื่องไปถึงช่วงวันจันทร์สัปดาห์หน้าได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งประธานเฟด Jerome Powell และ Mary Daly ที่จะมาในช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE (ราว 22.20 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราต้องปรับมุมมองใหม่ต่อจุด Peak เงินบาทที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุเกินระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 36.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งอาจต้องรอลุ้นว่า เงินดอลลาร์จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ 

โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง ประธานเฟด และ Mary Daly เริ่มมีความ hawkish มากขึ้น (เช่น ย้ำว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังดี และอัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยไปช่วงไตรมาส 3 และอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง ในปีนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก กดดันทั้งราคาทองคำและเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าว อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าทดสอบระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ หรือสูงกว่านั้นได้ แต่ต้องระวังการเข้าแทรกแซงจากทางการญี่ปุ่น ซึ่งเราคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทางการญี่ปุ่นจะรอจังหวะตลาดการเงินสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทำการ เพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่โซน 150-151 เยนต่อดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งจะช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง 

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาตามคาด เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง ทำให้เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสทดสอบโซนแนวรับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นจากโซนดังกล่าวได้ง่ายนัก หากไม่มีปัจจัยหนุนอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ จะออกมาตามคาด ก็ยังคงต้องระวังความผันผวนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น 

อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.65 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มี.ค. 2567 เวลา : 10:23:34

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:06 am