นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 เม.ย.67) ที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.63-36.76 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และจังหวะแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน เฟดไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าลดความเสี่ยง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งย้ำจุดยืนว่า เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและเลือกที่จะเทขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia -3.4% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานยังพอปรับตัวขึ้นได้บ้าง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -1.23%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.16% หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการที่ออกมาดีขึ้นจากรายงานก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -0.4%, Hermes -0.5% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กอปรกับ มุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ก็มีส่วนกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.30% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาวอื่นๆ) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงได้ในวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด หรือยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ยังอยู่ในระดับสูงเกิน 2.5 แสนราย ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.40% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สู่ระดับ 4.30%-4.40% หรือเกินกว่านั้น ก็จะยิ่งทำให้ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ท่ามกลางถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ต่างย้ำจุดยืนว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็นไปอย่างผันผวน โดยแม้ว่า ราคาทองคำจะพอได้แรงหนุนจากจังหวะย่อตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ บ้าง ทว่า การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ก็กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งจังหวะซื้อทองคำตอนย่อ และขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด จะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเฉพาะถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีกำหนดในช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟดอย่างไรบ้าง หลังรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ
ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม เพื่อประเมินแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงความเป็นไปได้ของการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านที่ประเมินไว้ แถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ (เวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจาก ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง รวมถึงการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ที่กดดันเงินบาทผ่าน แนวโน้มการขาดดุลการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าพลังงาน รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจทำให้เฟดยิ่งไม่รีบลดดอกเบี้ย และทำให้เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุน นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยได้บ้าง แต่เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจไม่ได้รุนแรง เพราะนักลงทุนต่างชาติได้ขายมาอย่างต่อเนื่องไปพอสมควร อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ก่อน ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เราคาดว่า การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนหน้า อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน กลับเข้าซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับรายงานอัตราเงินเฟ้อของไทย ว่าจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้โซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทำให้ เงินเยน (JPYTHB) ปรับตัวขึ้นเหนือโซน 24 บาทต่อ 100 เยน อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายเงินเยนได้บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ นอกจากนี้ ในช่วงโซน 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไป เรายังเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่ประเมินไว้ หากไม่มีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหากข้อมูลออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็จะส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำ และเงินบาท โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทะลุโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ และการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน หากผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง เราคาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพราะผู้เล่นในตลาดอาจต้องการรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าอยู่ ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจยังอยู่แถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ช
ข่าวเด่น