ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 เม.ย.67) ที่ระดับ  36.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.78 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.74-36.86 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงสู่เป้า 2% ได้ช้ากว่าคาด ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในจังหวะการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทบ้าง 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อีกทั้งรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในช่วงนี้ ก็ออกมาไม่ได้สดใสนัก เหมือนในช่วงการรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากบรรดาหุ้นกลุ่ม Defensive ทั้ง Utilities และ Healthcare Services ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.22%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.24% หนุนโดย รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ABB +6.3% และการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า ผลประกอบการหลายธนาคารจะออกมาสดใสเหมือนกับ Bankinter +5.3% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ต่างจากตลาดหุ้นอื่นๆ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง สู่ระดับ 4.63% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับปัจจุบัน จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากเรายังคงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3-4 ครั้งได้ ทำให้ เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ทว่า ราคาทองคำก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 
 
สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจมีโทนการสื่อสารไม่ต่างจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก่อนหน้า คือ เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จากแนวโน้มการชะลอตัวลงช้ากว่าคาดของอัตราเงินเฟ้อ 

ส่วนในฝั่งอังกฤษ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมีนาคม รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งอาจมีผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ที่ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ และอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงมีอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม (ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอลงบ้าง หลังดัชนี SET ก็ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับหลัก) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังรีบาวด์แข็งค่าขึ้น จากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่อาจยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE เพราะหาก ยอดค้าปลีกของอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE ก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ คล้ายกับในช่วงวันพุธ 17 เมษายน ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (และชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท) 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ 

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 เม.ย. 2567 เวลา : 10:16:25

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:02 pm