ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 เม.ย.67) ที่ระดับ  37.06 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 36.98-37.10 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่า ความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ขณะที่ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็กดดันให้ราคาทองคำปรับฐานลงหนักกว่า -1.2% หรือ เกือบ -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เนื่องจากในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำและรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังถูกจำกัดในโซน 37.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์รวมถึงการทยอยลดสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เทียบสกุลเงินหลัก) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้คลี่คลายลง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่เผชิญแรงเทขายหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia +4.4% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่เพิ่มความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 และรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.87%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.60% หนุนโดยสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ก็ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ กลุ่มธนาคารฝั่งยุโรป และกลุ่มเทคฯ ในสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.60% โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อ PCE ก่อนที่จะตัดสินใจปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ เราคงมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (เรายังไม่ได้เชื่อในสมมติฐาน No Landing) ซึ่งจะนำไปสู่การทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3-4 ครั้งได้ ทำให้ เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีตยังพบว่า การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงก่อนเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้จริง สามารถทำผลตอบแทนในช่วงระยะเวลา 1 ปี ได้ดีกว่า การเริ่มซื้อบอนด์เมื่อเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้วราว +3%

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อีกทั้ง ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง กอปรกับการเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ลดความน่าสนใจในการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังแกว่งตัวแถวโซน 106.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.0-106.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ได้ลดความน่าสนใจในการถือครองทองคำ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ยังคงมีอยู่ ก็ยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลงแรงกว่า -1.2% สู่โซน 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ ต่างก็ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานดังกล่าว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้าน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 37.10-37.15 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หรือ เพิ่มโอกาสที่เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยได้เลยในปีนี้ นอกจากนี้ การปรับฐานของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมาก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาด (ที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ) ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

ทั้งนี้ เรามองว่า แรงขายเงินดอลลาร์และการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ) ของผู้เล่นในตลาดอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในระยะสั้นนี้ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ 

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.95-37.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 23 เม.ย. 2567 เวลา : 10:26:08

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 5:31 pm