ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (24 เม.ย.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 เม.ย.67) ที่ระดับ  36.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.07 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.87-37.07 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global เดือนเมษายน ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แข็งแกร่งมากอย่างที่ตลาดประเมิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้ เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าต่อเนื่องไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อ หรือเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นต่างชาติ หลังบรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติต่างปรับคาดการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงถึงระดับ 37.50-38 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2-3

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่คลี่คลายลงบ้าง จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งต่างก็ทยอยประกาศผลกำไรที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังเผชิญแรงขายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +1.20%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.09% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +5.3%, Hermes +2.0% ตามความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.60% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มผันผวนอยู่ ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด สวนทางกับรายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.6-106.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ลดลงไปบ้างนั้น ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้นสู่โซนราคาแถว 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งการรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจโดย Ifo (IFO Business Climate) ของเยอรมนี และยูโรโซน ในเดือนเมษายน พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ซึ่งแม้ว่า ตลาดจะประเมินว่า BI อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% ทว่า ก็มีความเสี่ยงที่ BI อาจขึ้นดอกเบี้ย +25bps เพื่อช่วยประคองและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ได้

สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตางานสัมนา Monetary Policy Forum ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจช่วยชะลอโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองค่าเงินในช่วงนี้มานัก เพื่อรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ และไฮไลท์สำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินและทิศทางเงินดอลลาร์ได้ ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้ง่ายนัก และประเมินว่า โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจอยู่ในช่วง 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซน 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเป็นโซนแนวต้านในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ช่วงตลาดทยอยรับรู้การแถลงเกี่ยวกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน ในงานสัมนา Monetary Policy Forum หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ธปท. อาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ทว่า หากมีการส่งสัญญาณว่า ธปท. ยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ 

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.05 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 เม.ย. 2567 เวลา : 10:39:17

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:39 am