นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (25 เม.ย.67) ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.02 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า (แกว่งตัวในช่วง 36.87-37.11 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยภาพดังกล่าวก็ยังกดดันให้ ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงสู่โซน 2,320-2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาด การรอจังหวะเพิ่มสถานะ Short THB ของผู้เล่นต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ และพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่เหลือในสัปดาห์นี้ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปี 2024 และอัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้แม้ว่าโดยรวมรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มออกมาดีกว่าคาดและส่งผลดีต่อหุ้นบางส่วน เช่น Texas Instrument +5.6% แต่ดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาดเพียง +0.02%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาลดลง -0.43% ท่ามกลางความกังวลผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร ที่กดดันให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวลดลง อาทิ UBS -2.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่าง หุ้นกลุ่ม Semiconductor ตามความหวังแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 4.64% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ และ อัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นต่อทดสอบโซน 4.70% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อีกทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ผันผวนอ่อนค่าลงทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 105.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-105.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปได้ และยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ราว 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้แข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนนี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Microsoft, Alphabet และ Intel ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนคาของเงินบาทมีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งเงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ (พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจยิ่งถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมเข้าซื้อทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ต้องรอจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB ในช่วงโซนแนวต้านดังกล่าวเช่นกัน
อนึ่ง เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า ทางการญี่ปุ่นอาจรอจังหวะที่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มแผ่วลงชัดเจน ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง จนทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มกลับมาคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดราว 2-3 ครั้งในปีนี้ มากขึ้น
เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.95-37.20 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น