ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (29 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 เม.ย.67) ที่ระดับ  36.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.95 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 36.90-37.05 บาทต่อดอลลาร์) ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ และราคาทองคำ โดยเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ไปตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อีกทั้งทางการญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงิน ตั้งแต่ช่วงเงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ อย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวลไว้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะดังกล่าวเพื่อทยอยเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปทั้งหมด

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม FOMC ของเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เป็นต้น

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งเราคาดว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ทว่า เฟดอาจมีการสื่อสารในโทน Hawkish มากขึ้น เช่น ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ไปมากแล้ว (ล่าสุด ตลาดมองเฟดมีโอกาสเพียง 37% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง) แต่ต้องระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจสูงขึ้น หากเฟดส่งสัญญาณว่า พร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ ถ้าจำเป็น อนึ่ง เรามองว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควรในสัปดาห์นี้ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing and Services PMIs) เดือนเมษายน รวมถึง รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ และกลุ่ม Semiconductor ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวอาจออกมาสดใส ตามอานิสงส์ AI Boom

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสราว 73% ที่ ECB จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน (มีโอกาส 66% ที่จะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้) โดยหากอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนชะลอลงมากกว่าคาด ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยดังกล่าวของ ECB ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนเมษายน ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด ก็จะสะท้อนภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้น ซึ่งพอจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินหยวนจีน (CNY) ได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า ควรเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำสถิติใหม่ในรอบหลายสิบปี โดยเราประเมินว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเพียงรอจังหวะที่เหมาะสม เช่น สภาพคล่องและปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดที่เบาบางลง (ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นวันหยุดยาว Golden Week ของทางญี่ปุ่น) รวมถึงจังหวะที่ธีม US Exceptionalism เริ่มเปลี่ยนไปบ้าง จนทำให้เงินดอลลาร์เริ่มแกว่งตัว sideways หรือย่อลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด

* ฝั่งไทย – เราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.2 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ ยอดการส่งออก-นำเข้า ดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ก็อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้างและช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้ชะลอลง แต่ต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ที่อาจยังคงกดดันเงินบาทได้ ส่วนโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 1.2 หมื่นล้านบาท) ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ลดแรงกดดันต่อเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และค่าเงินเยนญี่ปุ่น (ที่อาจผันผวนหนัก หากทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินได้จริง ตามที่ตลาดกังวล)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และเฟดเริ่มส่งสัญญาณว่ามีโอกาส “ขึ้น” ดอกเบี้ยได้ ถ้าจำเป็น ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่นยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50-37.25 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2567 เวลา : 11:08:06

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:05 am