ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (2 พ.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 พ.ค.67) ที่ระดับ  37.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.06 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันอังคารที่ 30 เมษายน)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ 30 เมษายน ค่าเงินบาทได้ผันผวนในกรอบที่กว้างพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 36.94-37.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงวันหยุด วันแรงงานของไทยและหลายประเทศ ด้วยสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เบาบาง อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างกังวลว่า เฟดอาจส่งสัญญาณในโทน Hawkish มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลงยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับฐานหนักราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทได้ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังได้ดำเนินต่อไปในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ที่ไม่มีการส่งสัญญาณในโทน Hawkish อย่างที่ตลาดกังวล อีกทั้งประธานเฟดก็ย้ำว่า เฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง (ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาส 36% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้) และภาพดังกล่าวก็หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นไม่น้อยกว่า +40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นได้ดี หลังผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่า บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ AMD -8.9%, Nvidia -3.9% ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.34%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดที่คลี่คลายลงบ้าง แต่โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี  ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.64% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเยน (JPY) จากระดับ 157.5 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 153 เยนต่อดอลลาร์ อย่างรวดเร็ว (ก่อนที่เงินเยนจะอ่อนค่าลงเข้าใกล้ระดับ 156 เยนต่อดอลลาร์) ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่มีผลมาจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถว 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.5-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซน 2,290 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในการทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งจะช่วยในการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองมากนัก อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้เงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ธีม US Exceptionalism ได้อ่อนกำลังลดชัดเจน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดทำให้เราประเมินว่า โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังอยู่แถวช่วง 36.80-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่ หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า

อนึ่ง ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เรายังคงมองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในช่วงสัปดาห์หยุดยาว Golden Week ทำให้สภาพคล่องในตลาดนั้นเบาบางลงชัดเจน และเหมาะต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะล่าสุด โมเมนตัมเงินดอลลาร์ได้แผ่วลง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ส่วนผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง 

เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ค. 2567 เวลา : 10:25:35

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:02 am