ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (3 พ.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.81 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.97 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.80-37.00 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ส่วนหนึ่งอาจได้แรงหนุนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น รวมถึงการปิดสถานะของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ได้ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ในช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็มีส่วนลดความต้องถือครองเงินดอลลาร์ลง ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้งข้อมูลการจ้างงาน และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Nvidia +3.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Qualcom +9.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.51% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.91%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.22% กดดันโดยแรงเทขายทำกำไรบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Infineon Tech. -4.2%, ASML -2.6% สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ในฝั่งสหรัฐฯ ก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากรายงานอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนล่าสุดที่ออกมาสูงกว่าคาด  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง และยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสวนทางคาดการณ์ ก็มีส่วนลดความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อและช่วยให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในคืนวันศุกร์นี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงได้ ทว่า เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่วนบรรยากาศในตลาดการเงินก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดแข็งค่าแตะระดับ 153.3 เยนต่อดอลลาร์ ที่อาจมาจากทั้งการเข้าแทรกแซง (ถ้าเกิดขึ้นจริง) ในช่วงการประชุมเฟดและการปิดสถานะ Short JPY ของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,310-2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในการทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (ISM Services PMI)  

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าหลุดโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่วันก่อนหน้า ได้สะท้อนว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มมีกำลังมากขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดที่คลี่คลายลงบ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลง 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ข้อมูลตลาดแรงงาน (รับรู้ราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) และ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (รับรู้ราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจาก หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 2.5 แสนราย พร้อมกับอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่สูงกว่า +4.0%y/y (หรือ +0.4%m/m ขึ้นไป) ส่วน ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ก็อาจยังอยู่ในระดับสูงกว่า 52 จุด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ไม่ยาก ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (เงินบาทต้องอ่อนค่าผ่านโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ให้ได้ก่อน)

ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวของสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาดเล็กน้อย ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวแถวโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และหากข้อมูลออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับถัดไป 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ได้บ้าง 

เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

และประเมินกรอบเงินบาท 36.60-37.20 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ค. 2567 เวลา : 10:42:15

24-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 24, 2024, 8:34 am