ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (9 พ.ค.67) ทรงตัว ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.96 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.00 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ช่วงเย็นวันพฤหัสฯ นี้ และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ขณะที่เงินดอลลาร์โดยรวมก็แกว่งตัว sideways หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้การส่งสัญญาณใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปเรียบร้อยแล้ว (fully priced-in) ทั้งนี้ เงินบาทอาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำบ้าง หลังราคาทองคำมีทั้งจังหวะปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับและจังหวะรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะที่บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ บางส่วนก็ปรับตัวลดลงจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น Tesla -1.7% หลังมีรายงานข่าวว่า คณะอัยการของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบทาง Tesla เกี่ยวกับพฤติกรรมชี้นำในส่วนของความสามารถระบบขับขี่รถอัตโนมัติ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.18% ส่วนดัชนี S&P500 ย่อตัวลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง -0.03 จุด (-0.00058%)

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.34% ยังคงหนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มที่บรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางในฝั่งยุโรปยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.50% อีกครั้ง ท่ามกลางถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หากยังไม่มั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ลงเล็กน้อย (ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 71% จาก CME FedWatch Tool) ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยังอยู่ในกรอบ sideways แถวระดับ 4.50% ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะหากปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะผลการประชุม BOE ในวันพฤหัสฯ นี้ และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 105.5 จุด อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 105.4-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากตลาดทองคำยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ก็เคลื่อนไหวไปตามการทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยราคาทองคำยังคงติดโซนแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อในช่วงโซนแนวรับแถว 2,310-2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ราคาทองคำยังพอพยุงตัวแถวโซนดังกล่าวได้ 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราคาดว่า BOE อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ทว่าก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายพอสมควร อย่างไรก็ดี ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต ว่า BOE จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วที่สุด ในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือ ไม่ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ผลการประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ซึ่งเราคาดว่า BNM จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ทว่า ความกังวลต่อเสถียรภาพของเงินริงกิต (MYR) ก็อาจทำให้ BNM เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนได้ จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) ของจีน ในเดือนเมษายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุม BOE และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังพอมีอยู่ ทั้ง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน (ล่าสุดราคาทองคำก็แกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทก็อาจยังพอมีแนวต้านระยะสั้น แถวโซน 37.00-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้ง เราเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว จากฝั่งนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น หลังจากบอนด์ยีลด์ไทยได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในช่วงเวลาราว 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย ได้เร็วกว่าที่ตลาดคาด (ตลาดมอง BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3) ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง ซึ่งในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD ต่างชี้ว่า โมเมนตัมการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของเงินปอนด์อังกฤษ ได้แผ่วลง และเสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้  

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2567 เวลา : 10:17:35

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:01 pm