ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (14 พ.ค.67) ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์


  

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.81 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.75-36.84 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น (1 ปี) และระยะยาว (5 ปี) ที่สำรวจโดยเฟด สาขานิวยอร์ก ออกมาสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าราว +0.3pct และ +0.2pct ตามลำดับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวจากทั้งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสัปดาห์ก่อนหน้า และผลสำรวจโดยเฟดนิวยอร์กคืนวันจันทร์ (ตามเวลาประเทศไทย) ออกมาสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ  ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ส่งผลให้โดยรวม S&P500 ปิดตลาด -0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.02% โดยผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยุโรป ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของยูโรโซน ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของ Novo Nordisk +3.0% หลังยา Wegovy ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นยาลดน้ำหนัก

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 4.50% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น หากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง เราก็ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways ในกรอบ โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต่างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจไหนก็ตาม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน และย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง เพื่อรอลุ้นการรีบาวด์ที่อาจเกิดขึ้น หากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางนโยบายการเงินของทางธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ทั้งยอดการจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้าง รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน 

และในฝั่งไทย ควรรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI (ตลาดรับรู้ราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) และถ้อยแถลงของประธานเฟด (ราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งต้องจับตาโซนแนวต้านระยะสั้น 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ว่าเงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เราประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่บ้าง อาทิ โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม จนกว่าจะเห็นภาพแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง แถวโซน 36.90-37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าวบ้าง 

ในกรณีที่ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ) ในทางกลับกัน เราคาดว่า หากดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ออกมาตามคาด หรือ ต่ำกว่าคาด อาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.95 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ค. 2567 เวลา : 09:38:43

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:22 am