นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 พ.ค.67) ที่ระดับ 36.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.55-36.75 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควรในช่วงสั้นๆ หลังตลาดรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต ในส่วน Core PPI สหรัฐฯ ที่โมเมนตัมรายเดือน (%m/m) ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดตอบรับในเชิงกังวลกับภาพเงินเฟ้อ กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ และการปรับตัวลงของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจมีความผสมผสานและอาจไม่ได้น่ากังวลมากนัก เนื่องจาก รายงานดัชนี Core PPI ในเดือนมีนาคม ได้ถูกปรับปรุงข้อมูลใหม่เป็น -0.1%m/m จากที่รายงานในตอนแรกเป็น +0.2%m/m นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell หลังตลาดรับรู้รายงานดัชนี PPI ก็ไม่ได้มีโทนที่ Hawkish มากขึ้นกว่าเดิม (และไม่ได้กังวลกับรายงานดัชนี PPI ที่ออกมา) พร้อมย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำให้โดยรวม เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ส่งผลให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดประเมินรายงานดัชนี PPI ล่าสุด ออกมาผสมผสาน อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิง Hawkish มากขึ้น และมองว่าเฟดยังมีโอกาสน้อยมากที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่อาจคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ รีบาวด์ขึ้น หนุนให้โดยรวม S&P500 ปิดตลาด +0.48%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.15% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งภาพตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี รวมถึงยูโรโซน (ZEW Economic Sentiment) ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังพอได้แรงหนุนจากการที่ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ตามรายงานดัชนี PPI ที่ออกมาผสมผสาน
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ในช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี PPI ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 4.45% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและเชื่อว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลดัชนี PPI ที่ออกมาผสมผสาน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีจังหวะปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง จริงตามที่เราคาด หลังดัชนี PPI ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.50% ได้ หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งเราก็ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและคงคาดการณ์ว่าเฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานดัชนี PPI ที่ออกมาผสมผสาน และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามเดิม นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน และรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนเมษายน เช่นกัน ซึ่งตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมาในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อไปแล้ว ราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน จากรายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ของทางยูโรโซน ซึ่งอาจช่วยลดความกังวลการเกิด Technical Recession (GDP หดตัว q/q สองไตรมาสตด) หาก GDP ไตรมาสแรกพลิกกลับมาขยายตัวดีขึ้น ตามที่ตลาดคาด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวระดับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง CPI (ตลาดรับรู้ราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจยังอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อย่างไรก็ดี ควรจับตาโซนแนวรับสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอยู่แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน โดยจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่า หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ ก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในระยะสั้น ราว 20-30 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงทิศทาง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง อีกทั้งสัปดาห์นี้ก็ยังมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล ทำให้เงินบาทก็อาจยังติดในโซนแนวรับดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วง ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยหากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (%m/m) ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ราว 0.5% จากสถิติในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในทางกลับกัน หากออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่เกิน 0.4% ทำให้เราอาจพอประเมินกรอบเงินบาทได้แถว 36.35-36.70 บาทต่อดอลลาร์ (หากเงินบาททรงตัวแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI)
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.75 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น