ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (16 พ.ค.67) แข็งค่าขึ้นมาก ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.29 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.26-36.59 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ก็ออกมาทรงตัว แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะขยายตัวกว่า +0.4%m/m ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น และปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำกว่า +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด กอปรกับยอดค้าปลีกที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Nvidia +3.6%, Meta +2.1% หนุนให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.17% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.59% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนก็สามารถขยายตัวได้ราว +0.4%y/y (+0.3%q/q) ตามที่ตลาดคาดในไตรมาสแรกของปีนี้ ช่วยคลายความกังวลความเสี่ยงการเกิด Technical Recession หลังเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth หลังตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 4.34% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาการส่งสัญญาณของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ โดยเราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและคงคาดการณ์ว่าเฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ชะลอลงตามคาด ส่วนยอดค้าปลีกล่าสุดก็ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร อีกทั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังตลาดได้รับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกล่าสุด ไปแล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนโทนการสื่อสารให้มีความ Hawkish น้อยลงมาหรือไม่ หรือยังคงย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามเดิม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ เงินบาทเริ่มแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ (การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปตามที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้นำเข้าก็อาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงนี้ อีกทั้งโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องก็อาจยังติดโซนแนวรับหลักถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง เราคาดว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หรือ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจต้องมีการปรับสถานะกันบ้าง ทำให้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่กลายมาเป็นโซนแนวต้านสำคัญในช่วงนี้ไปได้ (แนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์)

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 16 พ.ค. 2567 เวลา : 09:37:29

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:08 am