ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (27 พ.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.65 บาทต่อดอลลาร์  “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”  จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.68 บาทต่อดอลลาร์  
 
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.63-36.70 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแกว่งตัวในกรอบของเงินดอลลาร์ ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาดบ้าง อีกทั้งบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน (Correction)  
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น 
 
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ  อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 
 
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
 
* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนเมษายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน) จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง หรือ กลับออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจยิ่งกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น เช่น ผู้เล่นในตลาดอาจคาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในช่วงปลายปี ส่งผลให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ไม่ยาก (สมการประเมิน ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY อย่างง่าย คือ DXY = 107 - จำนวนครั้งในการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด 
 
* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งยูโรโซน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สำรวจโดย ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของ ECB โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า ECB มีโอกาสที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนชะลอลงมากขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสดังกล่าวและอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างกลับมากังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน 
 
* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม โดยหากรายงานดัชนี PMI ของจีนทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) มีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็ชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนได้ในช่วงนี้ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในกรุงโตเกียว เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้ 
 
* ฝั่งไทย – แม้ว่าอาจไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญมากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดย 40 สมาชิกวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ทั้งนี้ เราประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นเพียง Noise ในระยะสั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ มุมมองของตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน 
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงอยู่ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน นอกจากนี้ ควรรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ของจีน ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด อาจช่วยลดทอนการอ่อนค่าของสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ อย่างใกล้ชิด หลังราคาทองคำมีแนวโน้มอยู่ในช่วงปรับฐาน (Correction) และโฟลว์ธุรกรรมทองคำก็มีผลกับทิศทางเงินบาทพอสมควร 
 
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) หากผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า ECB จะลดดอกเบี้ยได้ในเดือนมิถุนายน 
 
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward  
 
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.40-37.00 บาท/ดอลลาร์ 
 
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ค. 2567 เวลา : 10:34:36

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:21 am