ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (30 พ.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.84 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 พ.ค.67) ที่ระดับ  36.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.74-36.85 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.60% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง ในปีนี้) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่นที่ล่าสุดทะลุโซน 157.50 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเช่นกัน 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นสวนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ของหุ้น Nvidia +0.8% (แม้ว่าบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor/AI จะปรับตัวลงพอสมควรก็ตาม เช่น AMD -3.8%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.74%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -1.08% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ LVMH -2.8%, SAP -0.8% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้งในปีนี้ ยังคงหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้ระดับ 4.62% อย่างไรก็ดี เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ ทว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากระดับบอนด์ยีลด์ที่สูงกว่า 4.50% จะทำให้การถือครองบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มี Risk/Reward ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หากสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 4.70%-4.75% โดยโซนดังกล่าวก็อาจเป็นจุดทยอยเข้าซื้อที่น่าสนใจได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุไปได้ (อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น)
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่อง (และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์) นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การถือครองเงินดอลลาร์มีความน่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ (คาดการณ์ครั้งที่สอง) ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เมื่อเทียบกับคาดการณ์ครั้งแรก โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี PCE ที่จะช่วยสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้มีกำลังมากขึ้น หลังในวันก่อนหน้าเงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถกลับไปทดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (ซึ่งเป็นกรอบค่าเงินบาทที่เราได้ประเมินไว้ ณ ต้นสัปดาห์) โดยเรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ ทั้งความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้ราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงปรับฐานราคา (Correction) ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงปรับฐานและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะยิ่งกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดที่กลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จะมีการปรับสัดส่วนหุ้นไทยในดัชนี MSCI (คาดว่า อาจมีแรงขายหุ้นไทยที่ถูกปรับสัดส่วนและถูกปรับออกจากดัชนี ราว 1 หมื่นล้านบาท) 

ทั้งนี้ เงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพราะหากออกมาแย่กว่าคาด ก็สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลงได้ราว -0.14% แต่ในทางกลับกัน หากออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่สดใสและแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว +0.20% 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ค. 2567 เวลา : 10:23:59

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:29 pm