นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 มิ.ย.67) ที่ระดับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.48 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการแถลงของประธาน ECB แต่โดยรวมเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.55 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลัง ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ตามที่ตลาดคาดหวังไว้ แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ ECB จะลดดอกเบี้ยลง -25bps ตามที่ตลาดคาดไว้ก็ตาม ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ก่อน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia -1.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.66% หนุนโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง SAP +3.6% หลังผู้บริหารออกมาระบุว่าผลประกอบการของ SAP มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2027
ในส่วนตลาดบอนด์ แนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ ECB ที่ได้ลดดอกเบี้ยลง -25bps ตามคาด รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเกิน 90% ที่จะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง แต่ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.28% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน โดยเราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด แต่ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ (หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 4.50% ก็สามารถพิจารณาเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจได้เช่นกัน)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลง หลังเงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามถ้อยแถลงของประธาน ECB ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้ อย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้การลดดอกเบี้ยของ ECB ในครั้งนี้ มีลักษณะเป็น “Hawkish Cut” ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังไม่ได้อ่อนค่าลงไปมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก และการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,396 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings)
ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะถัดไป
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนพฤษภาคม ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคม ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่ (เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงขึ้นแตะระดับ 1.5%)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.35-36.55 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ได้ โดยเราประเมินว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าหลุดแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอยู่แถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้าอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในโซนต่ำกว่า 36.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อเงินเยน (JPYTHB) ในช่วงนี้ได้ และนอกเหนือจากโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว เราคาดว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะมั่นใจในแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ ความวุ่นวายของการเมืองในประเทศไทยจะคลี่คลายลงมากขึ้น ทำให้เงินบาทเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะขายสุทธิสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี เราพบว่า เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงได้กว่า 0.33% หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาสูงกว่าคาด ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นกว่า 0.37% ได้ สะท้อนว่า ตลาดการเงินอาจอ่อนไหวกับข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้มากกว่า ข้อมูลการจ้างงานที่ดีกว่าคาด
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 36.25-36.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ
ข่าวเด่น