ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (11 มิ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 มิ.ย.67) ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.82 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.72-36.83 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด หลังเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ ตามการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท  

แม้ว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ทว่า การรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta +2.0%, Microsoft +1.0% ก็มีส่วนช่วยหนุนให้โดยรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.26%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลงกว่า -0.27% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นในตลาดหุ้นฝรั่งเศส ท่ามกลางความวุ่นวายการเมืองฝรั่งเศส หลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายขวาจัด (ที่มีแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านสหภาพยุโรป หรือ EU) อย่าง พรรค RN ของนางมารีน เลอ แปน เข้ามามีอำนาจในสภาและในการบริหารประเทศมากขึ้นได้
 
ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพียง 45% ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวระดับ 4.46% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดมากขึ้น เพราะหากรายงานอัตราเงินเฟ้อ และผลการประชุมเฟดล่าสุด (โดยเฉพาะ Dot Plot ใหม่) ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เราย้ำมุมมองเดิมว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ (หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 4.50% ก็สามารถพิจารณาเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจได้เช่นกัน)
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลงเล็กน้อย ท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.1-105.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,327 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออังกฤษ และการตัดสินใจต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสกุลเงินต่างๆ มากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง แม้ว่าระดับ Valuation ของสินทรัพย์ไทยจะอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้นก็ตาม โดยเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกังวลต่อปัญหาการเมืองในประเทศอยู่ และหากปัจจัยดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง เราคงมองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้อีกครั้ง 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะเผชิญแรงขายอยู่บ้าง จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตาเช่นกัน เพราะหากข้อมูลการจ้างงานอังกฤษออกมาแย่กว่าคาด เช่น อัตราการเติบโตของค่าจ้างและการจ้างงานชะลอลงมากกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวสามารถกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 11 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:25:34

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:50 am