ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (12 มิ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 มิ.ย.67) ที่ระดับ  36.72 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.75 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.68-36.78 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวที่ไร้ทิศทางชัดเจนของเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด (ไฮไลท์สำคัญ คือ Dot Plot ใหม่) 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวมอาจยังไม่ได้กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Apple +7.3% (ที่ได้แรงหนุนจากความหวังว่าการนำ AI มาใช้ในอุปกรณ์ของ Apple จะช่วยกระตุ้นยอดขายอุปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดได้) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.88% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.93% ท่ามกลางแรงขายหุ้นฝรั่งเศสที่ยังคงดำเนินต่อไป (ดัชนี CAC-40 ฝรั่งเศสปรับตัวลงกว่า -1.33%) จากความกังวลว่า พรรค RN (National Rally) ที่เป็นพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส มีโอกาสที่จะได้รับเสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกังวลต่อแนวโน้มการเกิด Frexit อีกครั้ง
 
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.40% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักได้ทยอยเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว (แม้ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่าที่เราประเมินไว้ ในการประชุม 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคมก็ตาม) ทำให้ ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ (หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 4.50% ก็สามารถพิจารณาเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจได้เช่นกัน)
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.2-105.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงไร้ทิศทางที่ชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาศัยจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในการทยอยขายทำกำไร ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,332 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโมเมนตัมรายเดือน (%m/m) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด (ทยอยรับรู้ในช่วง 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งเราคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ทว่า มีโอกาสที่ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ใหม่ จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และ 3-4 ครั้งในปี 2025 รวมถึง ปี 2026 ส่วนอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว (Longer run) ก็อาจขยับสูงขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.75% ได้

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 14.00 น. โดยเรามองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5-2 ทว่าผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (จะมีการปรับเปลี่ยนคาดการณ์เศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่) และการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงิน 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ประเด็นการเมืองในประเทศไทย อย่าง การพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดต่างจับตามองเช่นกัน  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways แถวระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยสำคัญในวันนี้ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของบรรดานักลงทุนต่างชาติต่อการลงทุนในสินทรัพย์ไทยได้ และในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. โดยหาก กนง. มีการส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ย หรือ “เซอร์ไพรส์” ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยลง (เรามองว่าโอกาสเกิดน้อยมาก) ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก

และหลังจากตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยในประเทศดังกล่าว เรามองว่า ค่าเงินบาทก็อาจเริ่มแกว่งตัว sideways อีกครั้ง ก่อนจะผันผวนสูงขึ้นในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด โดยหากรายงานข้อมูลดังกล่าว และ Dot Plot ล่าสุดของเฟด ทำให้ตลาดมั่นใจได้ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ เรามองว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นและอาจทดสอบโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำเช่นกัน (ลุ้นว่า ราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,380-2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้หรือไม่) 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลสำคัญฝั่งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟด

และประเมินกรอบเงินบาท 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไปจนถึงผลการประชุม FOMC ของเฟด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:32:55

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:49 am