ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (13 มิ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 มิ.ย.67) ที่ระดับ  36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.69 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูง (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.72 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ได้ชะลอลงสู่ระดับ 3.3% น้อยกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ ในผลการประชุมเฟดล่าสุด สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ (จาก 3 ครั้ง ใน Dot Plot การประชุมเดือนมีนาคม) ซึ่งภาพดังกล่าวก็หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ส่วนราคาทองคำก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลง

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด อย่างไรก็ดี คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ล่าสุด ที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก็มีส่วนกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างในช่วงท้ายตลาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.85%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.08% หนุนโดยความหวังว่าบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ฝั่งยุโรปปรับตัวขึ้นแรง อาทิ SAP +3.4%, ASML +2.8%
 
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด และคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ที่แม้จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ แต่ก็ยังสะท้อนว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องอีก 4 ครั้ง ต่อปี ในปี 2025-2026 ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.32% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวลดลงต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมที่ทำให้เชื่อได้ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง ตามแรงหนุนจาก Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 104.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ถือว่าผันผวนสูงพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายเพิ่มเติม กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซน 2,337 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นบ้าง ตาม Dot Plot ใหม่ที่สะท้อนว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ 
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิดได้ โดยหาก PPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยอาจยังอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้น ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีนี้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทตั้งแต่ช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ อาจชะลอลงบ้าง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง (หรือมากกว่า) ตามที่เราได้ประเมินไว้ ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เรามองว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน จนกว่าความวุ่นวายการเมืองในประเทศจะคลี่คลายลงไปบ้าง ซึ่งต้องไปรอลุ้นการพิจารณาคดีต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 มิถุนายน ขณะเดียวกัน เรามองว่า บรรดาเล่นในตลาด อาทิ ผู้นำเข้า และผู้เล่นต่างชาติ ก็อาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) ในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์บ้าง ทำให้เงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวรับในช่วงดังกล่าวไปก่อน อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าก็จะเป็นไปอย่างจำกัด
 
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานดัชนี PPI ของสหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพราะหากออกมาสูงกว่าคาด หรือ ดีกว่าคาด (ในส่วนของยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน) อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้างและอาจทยอยกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันเงินบาท รวมถึงราคาทองคำได้ไม่ยาก

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:26:30

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:32 am