ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (14 มิ.ย.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 มิ.ย.67) ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.65 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ได้ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% น้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุดก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.42 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่าเงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาด (Buy on Dip) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ก็ทยอยอ่อนค่าลงตามตลาดหุ้นยุโรป ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสและยุโรป ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำเผชิญแรงขายต่อเนื่องและย่อตัวลงกว่า -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ นำโดย Nvidia +3.5% หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ออกมาชะลอลงกว่าคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุด ก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคาดหวังว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -1.31% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสและยุโรป นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่า ทางการจีนอาจตอบโต้ทางการยุโรป หลังทางการยุโรปได้สั่งเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่กับรถยนต์ EV จากจีน โดยภาพดังกล่าวได้กดดันให้บรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ต่างปรับตัวลงหนัก เช่น Volkswagen -3.5%, BMW -2.2%
 
ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (สวนทางกับคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ที่ระบุว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง) หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ชะลอลงกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.25% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวลดลงต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม และ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนแข็งค่าขึ้น แม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้างในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากสถานการณ์การเมืองในยุโรปและการปรับตัวลงของตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.7-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ถือว่าผันผวนสูงพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายเพิ่มเติมและแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซน 2,318 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมทองคำมีทั้งด้านขายทำกำไรและซื้อในจังหวะย่อตัว ส่งผลให้เงินบาทก็ผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวเช่นกัน 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้พอสมควร คือ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ในการประชุมครั้งนี้ แม้ BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ BOJ อาจจะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่นลง ซึ่งหาก BOJ มีการส่งสัญญาณดังกล่าวได้จริง อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังต่อการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในปีนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีนี้ 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ต่อแนวโน้มการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ ซึ่งหาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว สวนทางกับความคาดหวังของตลาดก็อาจกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 158 เยนต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงนี้ ที่มาพร้อมกับช่วงเงินยูโร (EUR) ก็เผชิญแรงกดดันจากประเด็นการเมืองยุโรป ก็อาจเป็นปัจจัยที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ก็ตาม 

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นอีกปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับเงินบาทในระยะนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าไปได้มากนัก และอาจยังติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนการแข็งค่าในช่วงนี้ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับแถวโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:30:07

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 9:48 am