ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (17 มิ.ย.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 มิ.ย.67) ที่ระดับ  36.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.77 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.65-36.77 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้เกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายของการเมืองยุโรปก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินยูโร (EUR) ก็ผันผวนอ่อนค่าลง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจนและยังคงติดอยู่แถวโซน 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์ก็สามารถแข็งค่าขึ้นได้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรป

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองไทยและการเมืองยุโรปที่อาจสร้างความผันผวนในกับตลาดการเงิน พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global เดือนมิถุนายน (Manufacturing & Services PMIs) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเรามองว่า โทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Neutral-Slightly Dovish ได้ ทำให้หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด แต่กลับสะท้อนการชะลอลงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็อาจพอช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แม้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากปัญหาการเมืองในยุโรป ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่า หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่าง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ยอดค้าปลีก และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อนึ่งเราประเมินว่าในการประชุม BOE เดือนมิถุนายนนั้น BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% และอาจยังส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI แม้จะชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงเกิน 3% พอสมควร ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจพอช่วยพยุงค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองยุโรป โดยเฉพาะ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม นี้ โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและสามารถกดดันให้เงินยูโร (EUR) และตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มอ่อนค่าลง/ปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ควรรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% และ 6.25% จนกว่าจะมั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ และค่าเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้น (สำหรับ BI)

* ฝั่งไทย – ประเด็นสำคัญที่ควรจับตาในระยะสั้น คือ สถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีการเมืองที่สำคัญ ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลงบ้าง ทว่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ หากความไม่แน่นอนของการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย พร้อมกันนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและเงินหยวนของจีน (CNY) โดยเงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นบ้าง หากผู้เล่นในตลาดเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนมากขึ้น

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้ผู้เล่นในตลาดจะเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองยุโรป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-37.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:27:26

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:59 am