นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 มิ.ย.67) ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.83 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ขยายตัวเพียง +0.1%m/m น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia +3.5% ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ออกมาบ้าง เช่น Meta -1.4% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.25%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.69% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่างกลุ่ม Semiconductor ตามหุ้นธีม AI ในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.5% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อว่า แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักจะเข้าสู่ช่วงการทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลงสู่ระดับ 4.22% หลังรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาน้อยกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนในกรอบ sideways และสามารถที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ทว่าเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังรายงานยอดค้าปลีกที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสที่กดดันไม่ให้เงินยูโร (EUR) สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปได้มากนัก ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.1-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเหนือโซน 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยหากทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนี PPI ชะลอตัวลงต่อเนื่อง มากกว่าคาด ก็อาจเปิดโอกาสให้ BOE สามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนสิงหาคม ซึ่งอาจเร็วขึ้นกว่าที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลง หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยได้คลี่คลายลงบ้างในระยะสั้น ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท หากบรรดานักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะหลังที่ทยอยออกมาแย่กว่าคาด ก็มีส่วนช่วยลดทอนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน เนื่องจากฝั่งยุโรปก็ยังมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสอยู่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันไม่ให้เงินยูโร (EUR) สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงนี้ และแม้ว่าเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เราก็มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้เงินบาทก็อาจยังติดในโซนแนวรับแถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านก็ยังคงเป็นช่วง 36.80-36.90 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนี PPI ของอังกฤษ (ช่วง 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพราะหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ BOE ให้เร็วขึ้นจากช่วงปลายไตรมาส 3 ซึ่งอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง และเป็นปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์ในช่วงนี้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น