นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 มิ.ย.67) ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.65-36.69 บาทต่อดอลลาร์) หลังตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Juneteenth ทำให้สินทรัพย์ส่วนใหญ่ในตลาดก็เคลื่อนไหวในกรอบ sideways นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้ง ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาททยอยแข็งค่าเข้าใกล้โซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมัน รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน ทำให้โซนดังกล่าวอาจยังคงเป็นแนวรับของเงินบาทในช่วงนี้ได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Juneteenth ทว่า หากประเมินจากสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจสะท้อนว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (ปัจจุบัน ตลาดให้โอกาสราว 86%)
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.17% ตามแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML -1.8% นอกจากนี้ ความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปอยู่ สะท้อนจากแรงขายหุ้นฝรั่งเศสที่ทำให้ ดัชนี CAC40 ของฝรั่งเศส ปรับตัวลงราว -0.77%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดกลับมาแกว่งตัวเหนือระดับ 158 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ส่วนความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสก็เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดทุนยุโรปและค่าเงินยูโร (EUR) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.1-105.3 จุด)
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเราคาดว่า BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% และเราประเมินว่า BOE อาจยังไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนนักว่าจะพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนสิงหาคม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ล่าสุด แม้จะชะลอลงตามคาด แต่ก็อยู่ในระดับสูงถึง 3.5% นอกจากนี้ เศรษฐกิจอังกฤษและอัตราเงินเฟ้ออาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมในระยะสั้นจากผลกระทบของการจัดงานคอนเสิร์ต Eras Tour ของ Taylor Swift ทำให้เรามองว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายน หากอัตราเงินเฟ้อสามารถชะลอลงได้ต่อเนื่อง หลังผ่านช่วงรับรู้ปัจจัย Swiftflation หรือ Swiftonomics ไปแล้ว
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่มีแนวโน้มสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลงต่อเนื่องได้ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบแถวระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน เพราะถึงแม้ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอย่าง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยจะคลี่คลายลงบ้างในระยะสั้น ทว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน และยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ ราคาทองคำ เพราะหากราคาทองคำยังสามารถทรงตัวที่ระดับปัจจุบัน หรือ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่หากราคาทองคำปรับตัวลดลง ก็สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำของผู้เล่นในตลาด ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะ “Buy on Dip” ทองคำอยู่ เพื่อรอลุ้นการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หากบรรดาธนาคารกลางหลักทยอยลดดอกเบี้ยลง และธนาคารกลางบางส่วนก็อาจยังคงเข้าซื้อทองคำเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรอง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะหาก BOE “เซอร์ไพรส์” ตลาด ด้วยการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หรือ ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งหน้า ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น