ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (25 มิ.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (25 มิ.ย.67) ที่ระดับ  36.61 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.69 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้างจากโซนแนวรับ ส่วนเงินดอลลาร์ก็แกว่งตัว sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้นำเข้า 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงเคลื่อนไหวผสมผสาน หลังบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างเผชิญแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง อาทิ Nvidia -6.7% ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Value ที่ปีนี้ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่ม Healthcare เป็นต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.09% แต่ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง -0.31%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.73% ท่ามกลางการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ BNP +3.3%, LVMH +1.3% ก่อนเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งรัฐสภารอบแรกของฝรั่งเศสในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์ หลังทางการยุโรปและทางการจีนเตรียมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการกำหนดภาษีนำเข้า EV ของจีน อนึ่ง ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.24% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้เป็น 90% (จาก CME FedWatch Tool) จากความหวังว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE ก็น่าจะชะลอลงต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ไปมากแล้ว ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สวนทางกับที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก ทว่าเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” และจากผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg ล่าสุด พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2025 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways ในกรอบ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และปัจจัยการเมืองในฝั่งยุโรป ซึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม จะมีการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 105.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดประเมินว่าเฟดมีโอกาส 90% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซน 2,340-2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนมิถุนายน พร้อมกับติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้า  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินดอลลาร์ก็ยังไม่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ เพราะแม้ตลาดจะเชื่อว่า เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่าเงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลักอื่นๆ ตามปัจจัยเสี่ยงการเมืองและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก (ECB, BOE และ BOJ) นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เงินบาทก็จะเริ่มเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศ จากฝั่งผู้นำเข้า ทำให้เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังติดแถวโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน 

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้แนวต้านระยะสั้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังดัชนี SET เริ่มส่งสัญญาณการกลับตัวที่ดีขึ้น ทำให้หากบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มกลับเข้าตลาดทุนไทยได้เช่นกัน 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มิ.ย. 2567 เวลา : 10:27:26

18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 9:41 am