ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (4 ก.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.66 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.75 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.58-36.76 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล้วนออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งทำให้ GDPNow ของทางเฟด Atlanta ปรับตัวลงเหลือ +1.5%q/q เมื่อเทียบรายปี สำหรับไตรมาสที่ 2  ส่วนผู้เล่นในตลาดก็เพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้เป็น 91% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,350-2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังคงไม่สามารถแข็งค่าผ่านโซนแนวรับแถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่าย ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้างของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Tesla +6.5%, Nvidia +4.6% หลังผู้เล่นในตลาดยังเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.88% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.51%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.74% ตามการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML +2.1% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้น ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ และผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบที่สองในวันที่ 7 กรกฎาคม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.35% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ อนึ่ง เรามองว่า ควรระวังจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หาก 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์นี้ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ของเฟด 2) ตลาดยังคงกังวลผลกระทบต่อตลาดบอนด์ หากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย อย่างไรก็ตาม เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการกลับมาอ่อนค่าลงบ้างของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) รวมถึงสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองอยู่ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,365 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ซึ่งจะเริ่มทยอยรับรู้ผล Exit Polls ในช่วงเวลาราว 04.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในเช้าวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม โดยผลโพลล่าสุด สะท้อนว่า พรรคแรงงาน (Labour party) มีแนวโน้มที่จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ปิดฉากการครองอำนาจมากว่า 14 ปี ของพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative party หรือ Tory) 

และนอกเหนือจากประเด็นการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจกลับมาผันผวนในกรอบ sideways หลังจากที่ผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจริงตามที่เราคาดในวันก่อนหน้า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง การจ้างงานในวันศุกร์ พร้อมรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปอังกฤษที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์นี้เช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ซึ่งเรามองว่า ดัชนี SET และ SET50 อาจเกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence ทำให้พอลุ้นโอกาสการรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด และอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากโซนดังกล่าวก็เริ่มเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าพอสมควร แต่หากเงินบาทสามารถแข็งค่าผ่านโซนดังกล่าว ซึ่งเป็นโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ได้ชัดเจน ก็อาจแข็งค่าต่อเนื่องทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน แถว 36.40 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรอบก่อนหน้าได้ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ โดยจากสถิติการเลือกตั้งอังกฤษ ตั้งแต่ปี 1990 พบว่า เงินปอนด์มักจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หากพรรคแรงงานสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ แต่อาจจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้น และแข็งค่าขึ้นชัดเจนในช่วง 6-12 เดือนหลังการเลือกตั้ง

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ค. 2567 เวลา : 11:09:31

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:15 am