ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (8 ก.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.46 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.56 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.43-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ตามการจังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดสะท้อนถึงการชะลอตัวลงมากขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ แม้ว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls จะเพิ่มขึ้น +2.06 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดเล็กน้อย แต่ก็มีการปรับลดยอดการจ้างงานฯ ที่ได้ประกาศในสองเดือนก่อนหน้าลงเกิน -1 แสนตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.1% ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ก็ชะลอลงต่อเนื่อง +3.9%y/y ตามที่ตลาดคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซนราคา 2,380-2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด และการรีบาวด์ขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป จากความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่ลดลงบ้าง

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวน จากการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบสองและประเด็นการเมืองของไทย และรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนถึงแนวโน้มการชะลอลงของเงินเฟ้อมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่า ตลาดการเงินอาจไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสราว 95% (CME FedWatch Tool) ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพดังกล่าวก็ได้ priced-in ไปมากแล้ว ทำให้เรามองว่า หากจะเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินมากขึ้น เช่น เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเพิ่มเติม อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลงมากขึ้นชัดเจน (หรืออัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงกว่าคาด) จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยจะมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และนอกจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มจับตาการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หากตลาดมั่นใจว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้

* ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศส (577 ที่นั่ง) รอบสอง ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า พรรคขวาจัด National Rally (RN) อาจได้เสียงข้างมากในสภา แต่ยังไม่เกินกึ่งหนึ่ง (289 ที่นั่ง) ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสบ้าง ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งยุโรป ทว่า หากผลการเลือกตั้งซึ่งจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ช่วง 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในเช้าวันจันทร์ สะท้อนว่า พรรค RN อาจได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ก็อาจกดดันให้ตลาดการเงินฝั่งยุโรปเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงและเงินยูโร (EUR) อาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

* ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายนที่อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.4%-0.5% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต PPI จะยังคงหดตัว -0.8%y/y ทั้งนี้ ยอดการส่งออกของจีนเดือนมิถุนายนอาจขยายตัว +8.0%y/y ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดการนำเข้าก็อาจขยายตัว +2.9%y/y ซึ่งการขยายตัวได้ดีของการค้าของจีนจะช่วยหนุนภาพการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ได้ ในด้านนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ธนาคารกลางเกาหลีใต้  (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลงเข้าใกล้เป้าหมายของบรรดาธนาคารกลางดังกล่าวมากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากฝั่งค่าเงินที่อาจผันผวนอ่อนค่าได้ จนกว่าจะเริ่มเห็นการทยอยลดดอกเบี้ยลงของเฟด 

* ฝั่งไทย – สถานการณ์การเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการนัดพิจารณาคดีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 กรกฎาคม ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ เราประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอาจย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 60 จุด หรือต่ำกว่าเล็กน้อยได้ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง Digital Wallet 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่ากลับมามีกำลังมากขึ้น แต่การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งต้องระวังสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และเงินหยวนจีน (CNY) ที่มีผลต่อเงินบาทในช่วงนี้ได้พอสมควร

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้างในช่วงต้นสัปดาห์ หากพรรค National Rally คว้าที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาฝรั่งเศสสวนทางกับที่ตลาดคาดหวัง กดดันให้ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด/ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงปลายสัปดาห์

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.25-36.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 08 ก.ค. 2567 เวลา : 10:20:39

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:43 am