ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (10 ก.ค.67) "ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง" ที่ระดับ 36.39 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.39 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.37-36.48 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงเกือบทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากถ้อยแถลงในช่วงก่อนหน้า ซึ่งประธานเฟดยังคงย้ำว่า เฟดยังรอความชัดเจนของแนวโน้มเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันประธานเฟดก็มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากเฟดใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวนานเกินไป ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้มีความ Dovish มากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ราว 2 ครั้ง และมีโอกาสราว 76% ที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังราคาทองคำพลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

แม้ว่าถ้อยแถลงของประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Nvidia +2.5% ตามการปรับเป้าราคาขึ้นของนักวิเคราะห์ จากความหวังว่า ผลประกอบการของ Nvidia จะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยรวมทรงตัว เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.07%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.90% กดดันโดยแรงขายหุ้นฝรั่งเศส ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส นอกจากนี้ หุ้นบางส่วนยังเผชิญแรงกดดันจากการประกาศคาดการณ์ผลประกอบการที่ลดลงและแย่กว่าที่ตลาดได้ประเมินไว้ อาทิ Dassault Systems -5.2%, BP -4.3%

ในส่วนตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ไม่ได้ส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจน ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways แถวโซน 4.30% ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็มีโอกาสผันผวนสูงขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดก็อาจยังคงมีความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ หากสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ทว่า เราคงมุมมองเดิม เน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็เผชิญแรงกดดันจากจังหวะปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ยังถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.9-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงแรกของการทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงบ้าง ทว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นกลับสู่ระดับ 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ซึ่งเราประเมินว่า อาจไม่ได้มีความแตกต่างจากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันก่อนหน้า ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และจังหวะการลดดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้

ส่วนทางฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน พร้อมจับตาผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.50%  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่า แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ จนทำให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ทำให้ เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวโซน 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของจีน (ในช่วงราว 8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวยังคงสะท้อนภาพการใช้จ่าย การบริโภคในจีนที่ยังคงซบเซา ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน กดดันให้เงินหยวนจีนมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ได้บ้าง ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ตราบใดที่ ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัว sideways หรือปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2567 เวลา : 09:48:40

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:38 am