นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 ก.ค.67) ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.05-36.32 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงราว -10bps ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ออกมา +3.0%y/y (-0.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.3% (+0.1%m/m) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดก็มีโอกาสราว 44% ที่จะลดดอกเบี้ย “3” ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ทะลุระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับเผชิญแรงเทขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ อาทิ Tesla -8.4%, Nvidia -5.6% ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะเข้าซื้อหุ้นขนาดเล็กที่อาจได้รับอานิสงส์จากการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดและช่วงที่ผ่านมาราคายังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 พุ่งขึ้น +3.57% ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.88%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อ +0.60% ท่ามกลางความหวังว่าบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าทยอยลดดอกเบี้ยได้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อเยอรมนีที่ชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ หุ้นธีม AI ยุโรป อย่างกลุ่ม Semiconductor เช่น ASML -1.3% ตามแรงขายทำกำไรหุ้นธีม AI เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและสะท้อนการชะลอลงต่อเนื่องของเงินเฟ้อ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (โอกาสราว 44%) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.21% (โดยมีบ้างจังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแตะระดับ 4.17%) ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระยะสั้นอาจเป็นไปอย่างจำกัด ยกเว้นว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่องชัดเจน ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจไปรอลุ้นรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ PCE ในช่วงปลายเดือนมากกว่า ทว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เรายังคงมองว่า เป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนหลุดโซน 159 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าอาจไม่ใช่การเข้าแทรกแซงของทางการญี่ปุ่น แต่เป็นการปรับสถานะ Short JPY ของผู้เล่นในตลาดมากกว่า โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตามองได้ดี รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectations) ระยะสั้นและระยะกลางจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด อาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน แถว 36.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทก็ยังไม่สามารถหลุดจากโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวแถวเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (อาจต้องรอช่วงปลายเดือน) นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้น อีกทั้งควรระวังแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง ส่วนบอนด์ยีลด์ก็อาจปรับตัวลดลง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ไทยได้
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงช่วง 21.00 น.
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.25 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ
ข่าวเด่น