ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (16 ก.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.16 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.16 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.21 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.08-36.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ และจังหวะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ได้ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังรายงานดัชนีภาคการผลิต โดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire State Manufacturing Index) ออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุดที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสถึง 60% ในการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะในการเพิ่มสถานะ “Trump Trades” (รอจังหวะเงินดอลลาร์ย่อตัว เพื่อ buy on dip) หลังเหตุลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเพิ่มโอกาสที่โดนัลด์ ทรัปม์จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัยได้ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ บางส่วนยังคงปรับตัวขึ้นได้ อาทิ Apple +1.7% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของ Goldman Sachs +2.6% ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -1.02% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่ออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ LVMH -2.7% นอกจากนี้ เหตุลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งอาจกระทบต่อการพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกได้ ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือกต่างปรับตัวลดลงหนัก นำโดย Vestas -6.4%, Orsted -5.5%
 
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (โอกาส 60% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ปรับตัวลดลงชัดเจน จากความกังวลผลกระทบต่อตลาดบอนด์จากนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ หากโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้จริง อย่างที่ตลาดกังวล โดยเฉพาะหลังเหตุลอบสังหารที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.21% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการทยอยเข้าซื้อ “Trump Trades” ของผู้เล่นในตลาด หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ หลังเกิดเหตุลอบสังหาร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากธีม Trump Trades กดดันตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.0-104.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,440 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไร กดดันให้ย่อตัวลงสู่ระดับ 2,425 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และยูโรโซนโดย ZEW  

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์ หรือแกว่งตัวใกล้แนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันไปก่อน (แถวโซน 36.10 บาทต่อดอลลาร์) จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติได้เริ่มทยอยขายทั้งหุ้นและบอนด์ไทยในช่วงวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำไม่ได้เข้าสู่ช่วงการปรับฐานที่ชัดเจน โดยทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อาจเห็นแรงขายทำกำไรทองคำ ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินบาทได้บ้าง 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยหากยอดค้าปลีกออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ลงบ้าง ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนการชะลอลงของการบริโภคในสหรัฐฯ ที่ชัดเจน ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ค. 2567 เวลา : 09:30:20

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 6:51 am