นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ก.ค.67) ที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.86-35.98 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากการทยอยปิดสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ของบรรดาผู้เล่นในตลาด ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็มองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงวันพุธที่ผ่านมา ก็อาจเกิดจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน และอาจลดดอกเบี้ยราว 2-3 ครั้งในปีนี้ หลังรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ Christopher Waller ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่รุนแรง นำโดย Nvidia -6.6% ท่ามกลางความกังวลว่า ทางการสหรัฐฯ อาจเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมบรรดาบริษัทเทคฯ หากยังปล่อยให้บริษัทจีนเข้าถึงเทคฯ ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มการเงินที่ส่วนใหญ่ได้รายงานผลประกอบการออกมาสดใส ก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.77% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.39%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.48% ท่ามกลางความกังวลว่า บรรดาบริษัทเทคฯ โดยเฉพาะกลุ่ม AI/Semiconductor อาจได้รับผลกระทบ จากความขัดแย้งด้านการค้าและเทคฯ ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่งผลให้หุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ ASML -10.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง อาทิ TotalEnergies +0.9% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า +2% จากรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงกว่าคาด
ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.16% ทั้งนี้ โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบ 4.10%-4.20% สอดคล้องกับมุมมองที่เราประเมินไว้ ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อน โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่โซน 155.5 เยนต่อดอลลาร์ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 103.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) เผชิญแรงกดดันบ้างจากจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่โซน 2,450-2,460 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเพิ่มเติม หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้างและสามารถทรงตัวเหนือโซน 2,460 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ ECB อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยลงอีกราว 2 ครั้งในปีนี้ (การประชุมเดือนกันยายนและเดือนธันวาคม) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ได้เริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ จริงตามที่เราประเมินไว้ โดยเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากผู้เล่นในตลาด ซึ่งคอยช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ นอกจากนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเข้ามาชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติมได้ ทำให้เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับหลักแถว 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เราประเมินว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มเป็นฝั่งขายสุทธิได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มเผชิญความผันผวนและเสี่ยงกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน โดยเงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB ซึ่งอาจส่งผลให้เงินยูโร (EUR) ผันผวน ได้พอสมควร โดยเฉพาะ หาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.10 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น