ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 ก.ค.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 36.21 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.97 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.93-36.21 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินโดยรวม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายนและการประชุมเดือนธันวาคม แม้ว่า ประธาน ECB จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนนัก ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ECB คืนที่ผ่านมาก็ตาม และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรก 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยแรงขายหุ้นได้กระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นและไม่ได้กระจุกอยู่เฉพาะหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia +2.6% ก็พอช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไว้ได้บ้าง โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.78% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลง -0.16% ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดย ASML -3.7% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ผลประกอบการของกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวโดยรวมของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะ sideways ไม่ต่างจากที่เราประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.18% และมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัว sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) จากการปรับฐานของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.7-104.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดทางให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน (ทยอยรับรู้ในช่วง 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ว่าจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้อย่างไรบ้าง (ทยอยรับรู้ในช่วง 21.40 น. ตามเวลาประเทศไทย)

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่อาจช่วยพลิกฟื้นบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้ หากรายงานผลประกอบการออกมาสดใสและดีกว่าคาด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทที่ผันผวนอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ในคืนที่ผ่านมานั้น สะท้อนว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง และเงินบาทก็อาจเกิดรูปแบบการกลับตัว จากแข็งค่าเป็นอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 20-21 พฤษภาคม ซึ่งหากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็เป็นไปได้ว่า เงินบาทก็อาจถูกกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และความเสี่ยงที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไหลออกจากตลาดทุนไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า ในระยะสั้น ราคาทองคำอาจเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจยิ่งกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ ทั้งนี้ แนวต้านเงินบาทถัดไปจากโซนที่เราประเมินไว้จะอยู่แถว 36.25-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในโซนดังกล่าว แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ทะลุโซนดังกล่าว ก็มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถวเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ในช่วง 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจขยับขึ้นมาอยู่ในช่วง 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ค. 2567 เวลา : 11:17:37

08-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 8, 2024, 8:23 am