ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 ก.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ก.ค.67) ที่ระดับ  36.22 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.14 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.12-36.28 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังคาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ออกมา +2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้พอสมควร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,350-2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สอดคล้องกับโซนแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ในต้นสัปดาห์) ส่งผลใหค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวผสมผสานอย่างเห็นได้ชัด โดยบรรดาหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง จากความผิดหวังผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.1%) ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ จากรายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าคาด และช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นราว +2% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงลดลง -0.93% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.51% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.72% กดดันโดยความผิดหวังจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดในช่วงนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด
 
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็สามารถหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นสู่โซน 4.25% ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด ตามที่เราได้ประเมินก่อนหน้า โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่ต้องทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดอย่างชัดเจน เช่น จากเดิมตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ในปีนี้ เป็นเพียง 2 ครั้ง หรืออาจน้อยกว่านั้น   

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด (รวมถึงออกมาดูดีกว่าประเทศฝั่งพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่นกัน) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมิถุนายน โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เฟดยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ 

และในฝั่งไทย เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ยอดการส่งออก (Exports) ของไทยในเดือนมิถุนายน จะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และอัตราการเติบโตจะเป็นอย่างไร รวมถึงดุลการค้าของไทยจะยังคงเกินดุลได้หรือไม่  

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ธีม US Exceptionalism รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด (Risk-Off) อาจยังคงช่วยหนุนเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ ส่วนโฟลว์ธุรกรรมลดสถานะ Short JPY (Short JPY = มองเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า)ของบรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจลดลงไปพอสมควรแล้ว ทำให้ค่าเงินเยนก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปได้มากนักในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ รวมถึงรอลุ้น ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักในสัปดาห์หน้า ที่จะเริ่มต้นด้วย BOJ ในวันพุธ ต่อด้วย เฟด และ BOE ในวันพฤหัสฯ นอกจากนี้ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ก็อาจส่งผลกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยโดยเฉพาะหุ้นได้บ้าง 

อนึ่ง แม้ว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ แต่เราก็มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจติดอยู่ในโซน 36.30-36.35 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน) แต่หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่ากว่าคาด ก็อาจอ่อนค่าต่อได้ถึงโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมกันนั้น เรายังคงประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน รวมถึง ผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นในมากขึ้นว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ถึงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง และอาจหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้

สำหรับในคืนนี้นั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ค. 2567 เวลา : 10:50:03

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:15 am