ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (31 ก.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.87 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 ก.ค.67) ที่ระดับ  35.87 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว (แกว่งตัวในช่วง 35.84-36.02 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ สู่โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ หลังมีรายงานข่าวในช่วงราว 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวผสมผสานอีกครั้ง โดยบรรดาหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง นำโดย Nvidia -7.0% ตามการลดความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก่อนทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ในสัปดาห์นี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงานสามารถปรับตัวขึ้นได้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงลดลง -1.28% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.50% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.45% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ก็ยังขยายตัว +0.6%y/y (+0.3%q/q ดีกว่าคาด) อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะกลุ่ม AI/Semiconductor ยุโรป ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามแรงขายหุ้นเทคฯ ธีมดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ ท่าทีของผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.15% อย่างไรก็ดี โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งผลการประชุมเฟด รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากรายงานข่าวว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมที่จะถึงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.4-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 2,455 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งต้องระวังความผันผวนในตลาดการเงิน หาก BOJ ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาล อย่างที่ตลาดคาดหวัง หรือ มีรายงานข่าวออกมาในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยหากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าได้พอสมควรในระหว่างวัน นอกจากนี้ ในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนกรกฎาคม 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนกรกฎาคม 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพฤหัสฯ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยแม้ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ทว่าผู้เล่นในตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่ 

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเป็นกรอบล่างของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ที่เราประเมินไว้) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ “เร็วและแรง” หากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ ในวันนี้ จนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (สถิติในปีนี้ พบว่า เงินเยนสามารถอ่อนค่าได้ราว 1.4% โดยเฉลี่ย หากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ) นอกจากนี้ ในช่วงตั้งแต่ 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย เงินบาทก็เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับท่าทีของเฟด ที่อาจไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็สามารถกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้เราจะประเมินว่า เงินบาทนั้นมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีโซนแนวต้านตั้งแต่ช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปจนถึงช่วง 36.25 บาทต่อดอลลาร์ ที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ในทางกลับกัน หากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้จริง เงินบาทก็สามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบแนวรับสำคัญถัดไปแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.25 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟด)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ก.ค. 2567 เวลา : 10:57:59

23-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 23, 2024, 2:20 pm