ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (5 ส.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ส.ค.67) ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.35 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 35.14-35.40 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม ล้วนออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ถึง 50bps ในการประชุมเดือนกันยายน (พร้อมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 100bps ในปีนี้) นอกจากนี้ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงหนักราว -60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับสถานะของผู้เล่นในตลาด ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในช่วงนั้นก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทรงตัวในกรอบ sideways ก็ตาม
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แต่เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เกิน 1% ในปีนี้ จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่วนในฝั่งไทย ควรจับตาประเด็นการเมืองในประเทศ

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกรกฎาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุด และการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด นอกจากนี้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงให้ความสำคัญกับ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการ โดยอาจกดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ 

* ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนสิงหาคม และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน พร้อมกันนั้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินยุโรปและเงินยูโร (EUR) ในช่วงนี้ได้ ก่อนที่ตลาดจะกลับมาให้ความสนใจประเด็นการเมืองฝรั่งเศส ในช่วงหลังจบมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ว่า ฝรั่งเศสจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จหรือไม่   

* ฝั่งเอเชีย –  ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม อาทิ ดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ (จะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ได้ชัดเจน) ยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในส่วนของนโยบายการเงิน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ทั้ง RBA และ RBI อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% และ 6.50% ก่อนที่จะเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เมื่อทั้งสองธนาคารกลางมั่นใจแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งดูจะยังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะฝั่งอินเดีย และเมื่อเฟดได้เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลง

* ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ทั่วไปในเดือนกรกฎาคม อาจสูงขึ้นสู่ระดับ 0.8% (+0.2%m/m) ตามการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาพลังงานและราคาอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.40% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา คำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญ (รับรู้ในช่วง 15.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินไทยในช่วงเดือนสิงหาคมได้ (เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจให้ความสำคัญกับคดีถอดถอนนายกฯ มากกว่า)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันเงินบาทผันผวนอ่อนค่าเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะหากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย อีกทั้ง ควรระวังความผันผวนจาก ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น ตามการปรับสถานะ JPY-Carry Trade หรือสถานะ Short JPY

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หาก 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2) ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังรายงานผลประกอบการ หรือปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่พร้อมจะทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00-35.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.40 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ส.ค. 2567 เวลา : 10:42:41

23-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 23, 2024, 2:31 pm