ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (6 ก.ค.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ก.ค.67) ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.23 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.15-35.51 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักกว่าคาด จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 จุด ตามคาด (จากระดับ 48.8 จุด ในเดือนมิถุนายน) สะท้อนว่าภาคการบริการสหรัฐฯ ได้กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น นอกจากนี้ ภาพดังกล่าว ยังได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้แนวต้าน 3.80% ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเกือบแตะระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์ จากไม่ถึง 143 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูล ISM PMI ภาคการบริการ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Nvidia -6.4%, Apple -4.8% อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในตลาด รวมถึงบรรดาหุ้นเทคฯ ที่เผชิญแรงขายหนักนั้น ได้รีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทว่าโดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงดิ่งลง -3.43% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -3.00% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -2.17% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปได้รีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก โดยภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านการรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป
 
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการล่าสุด ที่กลับมาอยู่ในโซนขยายตัว ได้ช่วยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ โดยผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -50bps ในการประชุมเดือนกันยายนได้ แต่อาจจะลดดอกเบี้ยเพียง -25bps ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ซึ่งต่างจากในช่วงก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจจะลดดอกเบี้ย -50bps ติดต่อกันในการประชุมเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.80% และมีโอกาสที่จะทยอยกลับขึ้นไปทดสอบโซน 4.00% ได้อีกครั้ง หากผู้เล่นในตลาดทยอยกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะค่าเงินเยนญี่ปุ่น (PY) ที่ผันผวนอ่อนค่าลงสู่โซน 145-146 เยนต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่สอดรับกับรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนกรกฎาคมที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-103 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ หนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็พอช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง ผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่อาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดว่า RBA จะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ หลังบรรดาธนาคารกลางหลักได้เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงแล้ว

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีโอกาสที่จะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วและแรงลงบ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงการเมืองในประเทศก็อาจเริ่มกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินไทย และเพิ่มความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยขายสินทรัพย์ไทยออกมาได้บ้าง ในช่วงระยะสั้นนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงได้ ขณะเดียวกัน ควรระวังความเสี่ยงจากประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจหนุนให้ ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ที่อาจมาพร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนและสามารถทยอยปรับตัวขึ้นได้ (หรือแกว่งตัว sideways เป็นอย่างน้อย) แม้ว่าตลาดจะเผชิญความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ตาม ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังมีโซนแนวต้านแรกแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทยังคงผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก็อาจอ่อนค่าทดสอบโซน 35.65 บาทต่อดอลลาร์ และแถว 35.85 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านถัดๆไป ในขณะที่โซนแนวรับได้ขยับขึ้นมาแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งภาพดังกล่าว ก็สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัล ใน Time Frame Daily ที่เงินบาท (USDTHB) เริ่มมีสัญญาณพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ และอาจปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องไม่ยาก หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าเหนือระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ยืนยันสัญญาณ Bullish Reversal Pattern 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ส.ค. 2567 เวลา : 10:07:17

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:34 am